In News

นายกฯลงพื้นที่เชียงรายเยี่ยมพื้นที่แม่สาย ย้ำไม่ละเลยชาวใต้เร่งทุกหน่วยระดมช่วย



เชียงราย-นายกฯ มอบบัตรประชาชนให้กับบุคคลที่ได้รับอนุมัติสัญชาติไทย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ย้ำขอให้เป็นกลไกสำคัญในการช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ก่อนหน้านี้​นายกฯ สั่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมให้รายงานความคืบหน้าทันที ย้ำไทยไม่สนับสนุนความรุนแรง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม  และนายกฯ ลงพื้นที่ “แม่สาย”เช้านี้ติดตามแผนการแก้ไขปัญาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ย้ำให้เร่งทำตามแผนทั้งระบบก่อนฝนปีหน้า พร้อมเปิดโครงการ “ปรับ ฟื้น คืน สุข เมืองล้านนา” หลังแม่สายคืนสู่ภาวะปกตินักท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก นายกฯยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนย้ำไม่ละเลยชาวใต้ สั่งการทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือทันทีตั้งแต่เกิดเหตุ ระบุเป็นนายกฯ ของคนไทย พร้อมลงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  และนายกฯ ขอบคุณ ศปช.และ ก.คลัง ทำงานรวดเร็ว หลังให้สิทธิด้านการเงินให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ ในโครงการ “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” ด้วยการ “พักต้นพักดอกลดดอกเบี้ย ”มั่นใจ ศก.พลิกฟื้นแน่นอน

วันนี้ (1 ธันวาคม 2567) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับชมการแสดงชุดนารีศรีชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการแสดงที่แสดงถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จากนักเรียนในสังกัดเทศบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบบัตรประจำตัวประชาชนไทยให้แก่บุคคลที่ได้รับอนุมัติสัญชาติไทย ตามกฎหมายในพื้นที่จังหวัดเชียงรายพร้อมกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มอบสัญชาติให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รอกันมานาน และก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับพี่น้องชาวชาติพันธุ์เข้าใจถึงปัญหา ทุกคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย จนทำให้รู้สึกว่าเป็นคนไทย เพียงแค่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และยังไม่ได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ โดยต่อไปนี้ผู้ที่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนจะสามารถเข้าถึง ระบบสวัสดิการต่างๆของรัฐได้ในฐานะรัฐบาลรู้สึกภูมิใจที่จะได้มีโอกาสดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าการได้รับสัญชาติเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะทุกท่านที่รอคอยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 มีการขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งในการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านและมีเลข 13 หลัก ต้องอยู่ในประเทศไทยมาไม่น้อยกว่า 15 ปี ได้รับการตรวจสอบประวัติจากหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยงาน มีความประพฤติที่ดีไม่เคยต้องโทษจำคุกเกิน 5 ปี ทั้งนี้ ถ้าเคยต้องโทษก็ต้องพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี  และในวันนี้มีผู้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนชุดแรกถึง 72 คน  ขอแสดงความยินดี และยังมีพี่น้องชาติพันธุ์รอสัญชาติอีกกว่า 500,000 คน ขณะที่การดำเนินงานที่ผ่านมา ใช้หลักเกณฑ์ ใช้เวลานาน รัฐบาลได้ลดขั้นตอนลงเพื่อให้การรอคอยไม่ยาวนาน บางคนรู้สึกว่า คงไม่มีโอกาสได้รับบัตรประชาชน แต่รัฐบาลสามารถผลักดันลดหลักเกณฑ์เหล่านั้นให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในร่างหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะช่วยลดระยะเวลาจากที่เคยใช้เวลาถึง 270 วัน ให้เหลือเพียง 5 วัน และการขอสัญชาติของผู้ที่เกิดในประเทศไทย แต่ไร้สัญชาติ จาก 180 วัน จะเหลือเพียง 5 วัน เท่านั้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ มีความหวังที่ได้รับสัญชาติไทยอย่างทั่วถึง โดยหลักเกณฑ์ใหม่นั้นจะเพิ่มกลไกการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยก็จะทั่วถึงมากยิ่งขึ้นและหลักเกณฑ์ก็จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนเรื่องนี้และต้องขอบคุณองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือกับประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งในวันนี้ผู้แทนจาก UNRC UNHCR UNICEF และ IOM ที่มาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ขณะที่ผู้ที่ได้รับสัญชาติไทย กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ได้เดินทางมามอบบัตรประจำตัวประชาชน รู้สึกดีใจมากเพราะทุกคนเป็นลูกหลานชาวเขาและชนกลุ่มน้อยที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย มานาน มีความภูมิใจ ตื้นตันใจ เป็นอย่างมาก ที่วันนี้ได้รับสัญชาติไทย พร้อมกับขอบคุณรัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาสและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้สัญชาติไทย ขอสัญญาว่าจะเป็นพลเมืองไทยที่ดีและให้ความร่วมมือกับทางราชการเพื่อพัฒนาหมู่บ้านชุมชน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินพบปะพี่น้องชาติพันธุ์ พร้อมกับร่วมถ่ายภาพอย่างเป็นกันเอง ซึ่งบรรยากาศโดยรอบเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ได้รับสัญชาติไทยในวันนี้

​นายกฯ แพทองธาร สั่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

วันนี้ (1 ธ.ค. 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สัมภาษณ์กรณีเรือประมงไทยถูกยิงเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 30 พ.ย. 2567 ว่า ได้รับรายงานล่าสุดมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย เสียชีวิต 1 รายและถูกจับตัวอยู่ตอนนี้ 4 ราย โดยมี 30 กว่าคน เป็นคนไทย 4 ราย ทั้งนี้  ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า สาเหตุ คือการรุกล้ำหรือไม่  ขอย้ำว่า ไม่สนับสนุนความรุนแรง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม และจะยืนยันเรื่องนี้ไปทั่วโลกอยู่แล้วว่า รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนความรุนแรงและขอให้รอสรุปสาเหตุ  ซึ่งได้มีการติดต่อกันอยู่แล้วตลอดเวลา  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะรายงานเมื่อมีความคืบหน้าทันที

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า ได้รับรายงานว่า คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC)  ได้ทำหนังสือทักท้วงในเรื่องการใช้ความรุนแรงแล้ว และขอให้ไต่สวนเรื่องนี้ให้ชัดเจน และขอให้นำเรือของไทย และคนไทยที่ถูกจับตัวไว้กลับมา พยายามเจรจาทั้งสองฝ่าย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประสานงาน   

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ได้มีหนังสือแสดงความกังวลในเรื่องนี้ด้วย และวันจันทร์นี้ (2 ธันวาคม 2567) จะได้เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยมาที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อย้ำขอให้มีการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น และปล่อยตัวคนไทย 4 คนให้เร็วที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการช่วยเหลือตัวประกันภัย ว่า มีการคุยกับ ออท. คือต้องการให้ผิดชอบ ซึ่งต้องอาศัยการพูดคุยกันเพราะเรื่องการรุกล้ำก็มีขั้นตอน ส่วนเรื่องการช่วยเหลือตัวประกัน ต้องพูดคุยแน่นอนและพูดคุยไปตั้งแต่เมื่อวานกับทางเมียนมา และพรุ่งนี้ก็จะยืนยันที่จะช่วยคนไทย 4 คน ดำเนินการอยู่ตลอดเวลาทั้งในส่วนของชายแดนและของกระทรวงการต่างประเทศ ทำงานร่วมกันอย่างจริงจังตลอด ซึ่งตอนนี้ตัวประกันทั้ง 4 คนปลอดภัย มีสัญญาณบวกแน่นอน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมามีสัมพันธ์ที่ดี ต้องคุยกันหลายด้าน

นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า การพูดคุยของการต่างประเทศมีระเบียบขั้นตอน (protocol) มากๆ การพูดคุยจึงยังพูดไม่ได้ สัญญาไม่ได้ ถ้าทั้ง 2 ประเทศยังไม่พูดคุยกัน จึงต้องพูดคุยก่อน และถ้าคืบหน้าเมื่อไหร่ให้รายงานทันที 

นายกฯ ลงพื้นที่ “แม่สาย”เช้านี้ติดตามแผนการแก้ไขปัญาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน 

เวลา 11.00 น.บริเวณคันดินตลาดสายลมจอย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย   โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม    นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เพื่อติดตามตรวจสอบความคืบหน้าการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ อุทกภัย ในภาคเหนือ โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม ที่อำเภอแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย จากผู้บริหารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  (สทนช. ) กระทรวงกลาโหม โดยกรมการทหารช่าง และกรมโยธาธิการและผังเมือง และส่วนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากแผนการดำเนินการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ขอให้เร่งดำเนินการโดยเร็วและให้ทันสถานการณ์ สำหรับเรื่องงบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อน และวางแผนให้ชัดเจน รวมทั้งให้กระทบประชาชนในพื้นที่ ให้น้อยที่สุด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินตรวจคันดิน บริเวณตลาดสายลมจอยและทักทายประชาชนที่รอให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะเป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อหลายมาตรการให้ประชาชน ที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย

นายกรัฐมนตรีรับทราบรายงาน ความคืบหน้า ในแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม แม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) แบ่งเป็น 3 ระยะที่รัฐบาล ได้อนุมัติให้ดำเนินการ ตามข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรีในคราวประชุม ครม. เมื่อ 2 เดือน ที่ผ่านมา ได้แก่

1.แผนระยะเร่งด่วน (1 ปี) ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในลำน้ำ โดยการขุดลอกคูคลอง  รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ ทำพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ในแม่น้ำสาย 15 กม. และแม่น้ำรวก 44 กม. มอบหมายให้กองทัพบก ดำเนินการให้เสร็จตามแผน

ซึ่งได้ออกแบบและจัดทำแผนพัฒนางานขุดลอก และทำพนังกันน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ระยะ 14.5 กม.ดำเนินการโดย กองทัพบก ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางเดือน ธันวาคม 2567 นี้ และให้เสนอแผนพัฒนางานขุดลอกและกลไกในการขับเคลื่อนในการประชุม JCR ครั้งที่ 4/2567 ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2567 ดำเนินการโดย Sub JCR และ กองทัพบก

หน่วยงานได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่ดำเนินการโดย สทนช. และ กองทัพบก แผนดำเนินการ ปลายเดือนธันวาคม 2567 - กลางเดือนมกราคม 2568 เพื่อไปดำเนินการขุดลอก + รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ + พนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ดำเนินการโดย กองทัพบก ซึ่งเป็นแผนดำเนินการ กลางเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2568 (ก่อนฤดูฝน ปี 2568) 

สำหรับแผนระยะกลาง 1-3 ปี ประกอบด้วย 2 แผนงาน  ได้แก่

1 โครงสร้างป้องกันน้ำท่วมและป้องกันตลิ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ  โดยให้วิเคราะห์จุดเสี่ยงการกัดเซาะตลิ่งหลังจากการขุดลอกในระยะเร่งด่วน ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กรมชลประทาน ( ชป.)  จท.และ สทนช. แผนดำเนินการ มกราคม - มิถุนายน 2568 (6 เดือน)  และสำรวจและออกแบบโครงสร้างป้องกันตลิ่ง ดำเนินการโดย ยผ. ชป. จท. สทนช. แผนดำเนินการกรกฎาคม 2568 - มิถุนายน 2569 (1 ปี)   และให้ดำเนินการก่อสร้าง โดย ยม. และ อปท. แผนดำเนินการ 2570 - 2572 (3 ปี)

ส่วนโครงการขุดคลองผันน้ำ ให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ ดำเนินการโดย ชป. แผนดำเนินการ มกราคม - มิถุนายน 2568 (6 เดือน)    และสำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบ ดำเนินการโดย ชป. แผนดำเนินการ กรกฎาคม 2568 - มิถุนายน 2569 (1 ปี)   และให้เร่งดำเนินการก่อสร้าง โดย ชป.ตามแผนดำเนินการ ปี 2570 - 2572 (3 ปี)

สำหรับแผนระยะยาว (3-5 ปี) ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ โครงการจัดการพื้นที่รับน้ำชั่วคราว (แก้มลิง) โดยให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ ดำเนินการโดย กรมชลประทาน  ปม. และ อส. แผนดำเนินการ ปี 2569 (1 ปี)    และให้สำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบ ดำเนินการโดย กรมชลประทาน (ชป.) ดำเนิอนการตามแผนการ ปี 2567 (1 ปี)   ทั้งนี้การก่อสร้างมอบให้  ชป. และ อปท. แผนดำเนินการ ปี 2571 - 2573 (3 ปี)

จากนั้น นายกรัฐมนตรี  ได้เดินไปที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สายเพื่อติดตามการฟื้นฟูซึ่งวันนี้ได้กลับคืนสู่ภาวะปรกติแล้ว โดยมีนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ในส่วนบรรยากาศของการค้าขาย ที่แม่สายเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง 

นายกฯ ย้ำไม่ละเลยชาวใต้ 

เวลา 11.36 ณ ด่านศุลกากรแม่สาย ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุได้มอบหมายรองนายกฯ และรัฐมนตรีลงพื้นที่ และจากการลงพื้นที่วันนี้ได้พูดคุยกับธนาคารต่างๆ ถึงมาตรการช่วยเหลือภายหลังอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยจะนำมาตรการดังกล่าวไปใช้ช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ด้วย 

“ตนเองจะลงพื้นที่หรือไม่นั้นต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมาต้อนรับอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หากลงไป ต้องมีขั้นตอนการต้อนรับ ทั้งนี้ หากสถานการณ์เรียบร้อยสามารถไปได้ก็จะลงพื้นที่ภาคใต้ทันที” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะชี้แจงกระแสดราม่าทางโซเชียลอย่างไรว่าไม่ได้ละเลยพี่น้องภาคใต้ นายกฯ กล่าวว่า “ ตั้งแต่วันเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ได้มอบหมายนายอนุทิน ชาญวีรกูล  นายภูมิธรรม เวชยชัย โดยมีการประสานทั้งหมดตั้งแต่กลางคืน ทั้งทางไลน์ และโทรศัพท์คุยกัน ทำทุกอย่าง“   

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ได้วางแผนล่วงหน้าเป็นเดือนเพื่อมาฟื้นฟูพื้นที่ภาคเหนือ ให้รู้ว่ารับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นต้องมา ส่วนภาคใต้มีรัฐมนตรีและรองนายกฯ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้หมายความว่า จังหวัดนี้ไม่ไป แปลว่าไม่สนใจ แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบมากมาย จึงต้องแบ่งงานกันทำ 

“ยืนยัน ไม่ละเลยเมื่อเกิดเหตุเราต้องไป มีคนไป มีหน่วยงานเครื่องมือไป สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ขอพูดว่ารัฐบาลขยับได้เร็ว ความช่วยเหลือไปถึงเร็วมาก ขอให้เปิดใจในเรื่องนี้  ไม่ใช่จะต้องมีดราม่า ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนเป็นคนไทย วันนี้เป็นนายกฯของคนไทยทั้งประเทศ ต้องรักษาคำสัญญานั้น“ นายกฯ ย้ำ

นายกรัฐมนตรียังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการจะลงพื้นที่สัปดาห์หน้าเลยหรือไม่นั้นว่า ต้องดูความเหมาะสม ตนเองอยากไปทุกจังหวัด ถ้าทำได้ไปแน่นอน แต่ความช่วยเหลือไปถึงโดยเร็วที่สุด เพราะการช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

นายกฯ ขอบคุณ ศปช.และ ก.คลัง ทำงานรวดเร็ว

นายจิรายุ ห่วงทรับพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ประชาชน ที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม    นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวรายงาน การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า  สถาบันการเงินของรัฐได้จัดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ มาตรการพักต้น พักดอก  การลดดอกเบี้ยตามเกณฑ์สำหรับกลุ่มที่ประสบอุทกภัยและกลุ่มที่ไม่ประสบอุทกภัย  ซึ่งเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มที่ดีรวมทั้งการเติมเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ภาครัฐ ให้เหมือนเช่นเดียวกับสถาบันการเงินภาครัฐ  และล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้ปรับวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สามารถนำงบประมาณไปช่วยเหลือได้ทั้งการช่วยเหลือประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธาน เพื่อมอบสินเชื่อในโครงการ ดังนี้ 
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ลูกค้า ผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ)
2. ธนาคารออมสิน (สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ งบประมาณโครงการออมสินสารพัดซ่อม-วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย)
3. ธนาคารกรุงไทย (มาตรการเคียงข้างผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยการ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดชำระหนี้และ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ)
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (โครงการมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567)
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank)  (สินเชื่อเติมทุนฉุกเฉิน ฟื้นฟูกิจการ)
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ)
7. บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  (SMEs ฟื้นฟู - No One Left Behind - ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วม)
8. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Green Development Bank - ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา สู่การค้าโลกและ บริการประกันส่งออก EXIM for Small BIZ)
9. กรมธนารักษ์ (สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงราย)  มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย)
10. กระทรวงมหาดไทยมอบเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 15,040,000 บาท  ค่าทำความสะอาดดินโคลน และซากวัสดุ ครัวเรือนละ 10,000 บาท จำนวน 1,504 ครัวเรือน 

ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณที่ทุกท่านช่วยกันฟื้นคืนพื้นที่อุทกภัยให้กลับมาเป็นปรกติ ได้อย่างรวดเร็ว และดีใจที่ได้มาเห็นบรรยากาศสดชื่น แจ่มใส ในวันนี้และขอขอบคุณ คณะรัฐมนตรี ศปช. และข้าราชการ ทุกภาคส่วนที่ได้ประสานความร่วมมือร่วมใจผลักดัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน  

“สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้  ได้ติดตามสถาณการณ์ตลอดเวลา ได้สั่งการรองรัฐมนตรีและรัฐมนตรีลงพื้นที่ทันที และจะต้องใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกันกับน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา“  

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ภัยน้ำท่วม ถือเป็นภัยที่ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบ  ซึ่งประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า  ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าในมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆปรับตัวดีขึ้นและจะดียิ่งขึ้นต่อไป  นายกรัฐมนตรีกล่าว 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินชมบูธ ที่แสดงมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี  2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสําคัญในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมถึงเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา จากสถานบันการเงินที่ร่วมโครงการ พร้อม กล่าวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และทักทายประชาชนที่อยู่ภายในงาน  ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมที่ และมอบบัตรประจำตัวประชาชน ให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่ศูนย์ราชการอำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายในช่วงเวลา 14 นาฬิกา