In News

'ชูศักดิ์'ประกาศเจตนารมณ์งานวันต่อต้าน คอร์รัปชันสากลไทย'สู้ให้สุดหยุดการโกง'



กรุงเทพฯ-“ชูศักดิ์” รมต.นร ประกาศเจตนารมณ์งานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) “FIGHT AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง” มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง พร้อมแสดงจุดยืนไม่ทำ ไม่ทน และไม่เฉยต่อการทุจริต

วันนี้ ( 9 ธันวาคม 2567)  เวลา 10.20 น. ณ ฮอลล์ 7 อาคารศูนย์การประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) “FIGHT AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง” โดยมี นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. (ทำหน้าที่แทนประธาน ป.ป.ช.) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายอำนาจ พวงชมภู ประธานกรรมการ ป.ป.ท. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนองค์กรภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมด้วย

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาคมโลก ถึงภัยร้ายแรงของการทุจริต และเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานาน ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในมุมมองของนานาชาติจากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทย คือ เรื่องการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน การบังคับใช้กฎหมาย การแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ ส่งผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับ เพื่อวัดสถานการณ์การทุจริตในแต่ละประเทศที่นักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศใช้ประเมินความน่าสนใจลงทุนของแต่ละประเทศ โดยมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตามผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในระยะที่ผ่านมายังอยู่ในระดับคงที่ มีคะแนน 35 - 36 คะแนนจาก 100 คะแนน แสดงให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
 
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และสร้างความโปร่งใส (Transparency) การสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการสร้างรายได้ และสร้างโอกาสแก่ประเทศและประชาชน โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งรัฐบาล มีความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ยึดประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นที่ตั้ง และผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบที่สำคัญ ผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่

1. การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยการผลักดันให้แนวทางการแก้ไขบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580) และการผลักดันให้มีการจัดทำแผนระดับรองเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ทั้งในแง่การรับรู้ของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ 2. การขับเคลื่อนพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการอนุมัติ อนุญาต เพื่อลดปัญหาการทุจริตจากการเรียกรับสินบน และการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ สร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัล 3. การเสริมสร้างให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง สร้างความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสในระบบศาลยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการนิติบัญญัติ และระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งการส่งเสริมระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 4. การสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายหรือมีผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการรับมือกับปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐและปัญหาการทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่างของกฎหมาย เพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

5. การสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการตรวจสอบ ก่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเชื่อมโยงกันในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และไร้รอยต่อ 6. การพัฒนาช่องทางการแจ้งเบาะแสให้มีความหลากหลายเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย สามารถแจ้งเบาะแสได้ทันทีเมื่อพบเห็นการกระทำทุจริต และ 7. การส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตและผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมของประเทศไทยไปให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย อันจะส่งผลให้นักลงทุนชาวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศเติบโตได้มากขึ้น และส่งผลต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ให้ดีขึ้นด้วย

“วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี รัฐบาลได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง” โดยมีเจตนารมณ์ในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมทั้งแสดงจุดยืนร่วมกันของคนไทยทุกภาคส่วนที่จะไม่ทำ ไม่ทน และไม่เฉยต่อการทุจริต อีกต่อไป” นายชูศักดิ์ ย้ำ

โอกาสนี้ นายชูศักดิ์ นำพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) อย่างพร้อมกัน โดยกล่าวว่า  “ข้าพเจ้า ขอประกาศเจตจำนงว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ”