In Bangkok

บางกอกใหญ่วัดควันดำท่าปล่อยสองแถว วัดดีดวด-วัดใหม่พิเรนท์ปั้นสวน15นาที



กรุงเทพฯ-บางกอกใหญ่คุมเข้มควันดำท่าปล่อยสองแถวขนาดเล็ก วัดดีดวด-วัดใหม่พิเรนท์ ปั้นสวน 15 นาทีวัดดีดวดซอยจรัญสนิทวงศ์ 12 ชมคัดแยกขยะโรงเรียนชาตศึกษา 

(9 ธ.ค. 67) เวลา 14.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ประกอบด้วย 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ท่าปล่อยรถโดยสารขนาดเล็กร่วมบริการสายที่ 1411-1 วัดดีดวด-วัดใหม่พิเรนท์ โดยเขตฯ ได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

พัฒนาสวน 15 นาที วัดดีดวด ซอยจรัญสนิทวงศ์ 12 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ด้านข้างอาคารสำนักงานวัดดีดวด ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่มไม้ประดับ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นชะแมบทอง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น เพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) คือ สวนบางกอกใหญ่ พื้นที่ 3,428 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนกลิ่นพิกุล พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2.สวนอิสรภาพ พื้นที่ 28 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดใหม่พิเรนทร์ 3.สวนรุ่งอรุณ พื้นที่ 184 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดอรุณราชวราราม 4.สวนสยามบางกอกใหญ่ พื้นที่ 676 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักการโยธา 5.สวนริมคลองบางหลวง พื้นที่ 400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของที่ราชพัสดุ 6.สวนริมทางเท้าเพชรเกษม 18  พื้นที่ 30 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักการโยธา อยู่ระหว่างดำเนินการ

7.สวนวัดดีดวด ซอยจรัญสนิทวงศ์ 12 พื้นที่ 400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดดีดวด อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนบางกอกใหญ่ภิรมย์ พื้นที่ 1,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ระหว่างของบประมาณ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนชาตศึกษา ซอยอิสรภาพ 29 พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 142 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จัดให้รับประทานอาหารเฉพาะบริเวณโรงอาหารเท่านั้น มีจุดทิ้งเศษอาหารบริเวณโรงอาหาร คัดแยกเศษผักผลไม้และเศษอาหาร จัดเก็บรวบรวมไว้ มีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังคัดแยกไว้ตามจุดทิ้งที่กำหนด กล่องนม เขตฯ จัดเก็บเดือนละครั้ง กระดาษ ขวด กล่องพลาสติก รวบรวมไปจำหน่าย ไม้ไอศกรีม รีไซเคิลจัดทำสิ่งประดิษฐ์ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกจัดเก็บรวบรวมจากถังแต่ละจุด นำไปไว้ห้องพักขยะ เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกรวบรวมแยกใส่ถุงระบุขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 35 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3-5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.5-1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงเรียนในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ 

ในการนี้มี นายเกียรติวิสุทธิ์ เพ็ชรหมื่นไวย ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล