In Global
เทศกาลตงจื้อ(冬至)ชื่อเรียกคนจีนกลาง 'การไหว้เจ้า'ช่วงฤดูหนาวชาวจีนทั่วโลก
เทศกาลนี้จีนกลางเรียกว่า ตงจื้อ (冬至) 冬 แปลว่าฤดูหนาว 至 แปลว่ามาถึง หรือที่สุด หมายถึงที่สุดนี่แหละ รวมความแปลว่าที่สุดของฤดูหนาว ตรงกับ winter solstice ของฝรั่ง ที่ว่าที่สุดของฤดูหนาวไม่ได้หมายถึงจุดจบของฤดูหนาว แต่หมายถึงการไปจนสุดเตรียมจะเริ่มพลิกกลับ เพราะวันนี้เป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนตัวลงใต้ไปที่สุด ในวันถัดมาพระอาทิตย์จะเริ่มขยับขึ้นเหนือไปทีละน้อยครับ
ส่วนจีนแต้จิ๋วจะเรียก ตังโจ่ย (โจ่ย ออกเสียงสั้น เขียนด้วยอักษรไทยไม่ได้ คือ สระ โอะ แต่มี ย เป็นตัวสะกด) เขียนว่า 冬节 แปลง่ายกว่าว่า เทศกาลฤดูหนาว ทางไทยเราบัญญัติเป็นภาษาแขกว่า เหมายัน มาจาก เหม + อายัน แปลว่า การมาถึงของหิมะ หรือ solstice แห่งหิมะ
ส่วนทางอินเดียเองใช้ต่างจากเรา เขาใช้ว่า दक्षिण अयनांत ถอดเป็นแบบไทย ๆ ว่า ทักษิณายนานตะ มาจาก ทักษิณ + อายนะ + อันตะ น่าจะแปลได้ว่า การมาถึงใต้สุด ซึ่งตรงกับนิยามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ของ winter solstice
เทศกาลนี้คนจีนฉลองกันทั่วไป โดยมากก็จะมีการรับประทานอาหารกัน อาหารประจำเทศกาลแต่ละถิ่นก็ไม่เหมือนกันอีก ภาคเหนือกินเกี๊ยว ภาคใต้กินบัวลอย
ในเมืองจีนเทศกาลเหมายันที่ดังสุด ๆ คือ แต้จิ๋ว มีคำพูดว่า เทศกาลฤดูหนาวประหนึ่งตรุษจีน (冬节大如年) มีทั้งไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน กินอาหารกันมากมาย เฉลิมฉลองกันสนุกสนาน
เรื่องที่คนใต้กินบัวลอยเขาว่ากันว่าพัฒนาจากการกินเกี๊ยว กล่าวคือ ทางใต้ปั้นเกี้ยวเป็นทรงกลมเหมือนไข่ ข้างในมีไส้ นาน ๆ ไส้ก็หายไป เหลือแต่แป้ง หรือมีไส้ แต่กลายเป็นของหวานไปเสียแล้ว
เมืองไทยนี้คนจีนในไทยดูยังรักษาเอกลักษณ์นี้ไว้เช่นกัน เราอาจจะไม่ถึงกับไหว้สุสานยกใหญ่ แต่หลายคนก็ไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษ และกินขนมบัวลอยน้ำขิงที่เรียกว่าขนมอี้ หรือ ขนมอี๋ ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียว