In News
ศาลยธ.อธิบายการอ่านคำพิพากษาและ บังคับคดี 'ลุงวิศวะ'
กรุงเทพฯ-ศาลยุติธรรมอธิบายกระบวนการอ่านคำพิพากษาและขั้นตอนการบังคับคดีตามผลคำพิพากษาถึงที่สุด คดีนายสุเทพ โภชนสมบูรณ์ “ลุงวิศวะ”
วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๖๔ นายศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อธิบายกระบวนการอ่านคำพิพากษาและขั้นตอนการบังคับคดีตามผลคำพิพากษาถึงที่สุด คดีนายสุเทพ โภชนสมบูรณ์ (“ลุงวิศวะ”) ซึ่งเป็นคดีในความสนใจขอประชาชนว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๑ ศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสุเทพ โภชนสมบูรณ์ (“ลุงวิศวะ”) มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยศาลไม่เชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามข้อต่อสู้ของจำเลย แต่เนื่องจากจำเลยมิได้มีจิตใจเหี้ยมโหดเยี่ยงโจรผู้ร้าย เพียงแต่ขาดสติยับยั้งชั่งใจในการควบคุมตน จำเลยยิงปืนไปเพียง ๑ นัด หลังเกิดเหตุมิได้หลบหนีไปไหน และยอมรับกับเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีว่าเป็นคนยิงผู้ตาย ประกอบกับผู้ตายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เห็นสมควรลงโทษจำเลยสถานเบา ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จึงวางโทษจำคุก ๑๕ ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษขั้นต่ำที่สุดตามกฎหมายในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๐ ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ ปรับ ๔,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ ๒,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๑๐ ปี และปรับ ๒,๐๐๐ บาท ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ๓๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันยื่นคำร้องขอเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ญาติผู้ตายซึ่งเป็นผู้ร้อง
จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายนั้นไม่เป็นความผิดเพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ศาลจังหวัดชลบุรีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้คู่ความฟัง ซึ่งการให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยฟังแทนเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๙ โดยศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยยังคงไม่เชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยยื่นฎีกาว่าการฆ่าผู้ตายไม่เป็นความผิดเพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
มีข้อน่าพิจารณาว่าในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะไม่ปรากฏเรื่องการรอหรือไม่รอการลงโทษ เนื่องจากโทษจำคุกที่ทั้งสองศาลลงแก่จำเลยคือ จำคุก ๑๐ ปี จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ ที่ให้ดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษเฉพาะคดีที่จะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่านั้น
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ศาลจังหวัดชลบุรีนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งการให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังแทนเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๕ ประกอบมาตรา ๒๐๙ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คู่ความที่จะไม่ต้องเดินทางมายังศาลฎีกาที่กรุงเทพมหานคร ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรก จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงมีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๒ วรรคสาม ศาลไม่อาจอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยไปในวันนั้นได้ ต้องออกหมายจับจำเลยเพื่อเอาตัวมาฟังคำพิพากษาเสียก่อน โดยหากออกหมายจับแล้วจับจำเลยไม่ได้ภายใน ๑ เดือน จึงจะอ่านคำพิพากษาได้ คดีนี้ศาลจังหวัดชลบุรีจึงออกหมายจับจำเลยเพื่อให้มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ อันเป็นเวลาหลังจากวันที่ออกหมายจับ ๑ เดือนเศษ
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถจับกุมจำเลยมาศาลได้ และจำเลยไม่เดินทางมาศาลด้วยตนเอง ศาลจังหวัดชลบุรีจึงมีอำนาจอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๒ วรรคสามที่กล่าวมาข้างต้น โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ซึ่งเมื่อเป็นกรณีดังกล่าวศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะกำหนดโทษในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ซึ่งในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ กฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำก่อนลดโทษไว้ที่ ๑๕ ปี ในคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุวางโทษจำคุก ๕ ปี ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ และเมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานพาอาวุธปืนแล้ว รวมจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๒,๐๐๐ บาท เมื่อโทษจำคุกที่จะศาลฎีกาจะลงแก่จำเลยไม่เกินห้าปี จึงเข้าเกณฑ์ที่ศาลฎีกาอาจจะรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษจำคุกได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ซึ่งศาลฎีกาใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่าโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี คุมความประพฤติ ๒ ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ให้จำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการระงับควบคุมอารมณ์ที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง โดยศาลฎีกาให้เหตุผลประกอบการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษเช่นนี้เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และเหตุที่เกิดขึ้นผู้ตายก็มีส่วนผิดด้วย การรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยน่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าการจำคุก
โดยเมื่อมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามกฎหมาย ซึ่งมีผลว่าจำเลยทราบคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจำเลยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา แม้ว่าโทษจำคุกจะรอการลงโทษไว้ แต่จำเลยก็ยังมีหน้าที่ไปพบพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เข้ารับการอบรม และกระทำกิจกรรมบริการสังคมตามคำสั่งศาล หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติดังกล่าวก็เป็นหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติที่ต้องรายงานศาล ซึ่งหากได้ความว่าจำเลยยังหลบหนีแล้วไม่ไปพบพนักงานคุมประพฤติ ก็จะถูกศาลออกหมายจับมาบังคับตามคำพิพากษาต่อไป ซึ่งการบังคับตามคำสั่งศาลที่ให้คุมประพฤติ ด้วยวิธีการออกหมายจับจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ มาตรา ๓๒ วรรคสอง ส่วนค่าปรับหากจำเลยไม่ชำระก็อาจถูกยึดทรัพย์ชำระค่าปรับได้แม้จะหลบหนีไปก็ตาม สำหรับคดีส่วนแพ่งเป็นเรื่องที่ญาติผู้ตายในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการร่วมกับเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม