Think In Truth
ทางเลือกและความเป็นจริงของพลังงาน แสงแดด โดย : ฅนข่าว 2499
จากกรณีที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ(หัวหน้าพรรคประชาชน) และ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลง Policy Watchหัวข้อ ขบวนการค่าไฟแพง กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลเพื่อไทยพร้อมเรียกร้องให้นายกฯยกเลิกโครงการซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน
ทั้งนี้โดยนายศุภโชติ ได้กล่าวย้อนไปเมื่อปี 2565 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เป็นประธาน และมีมติรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ตามแผนพลังงานชาติฉบับปี 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 รวมไปถึงกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทขึ้น จากนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็รับลูกด้วยการออกหลักเกณฑ์จัดหาพลังงานสะอาดจำนวน 5,203 MW ซึ่งผลการคัดเลือกของรอบแรก ได้ประกาศออกมาว่า ใคร บริษัทไหน ได้โครงการอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่
ส่งผลให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ทั้งระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมค่อนข้างสั้น ทำให้บางบริษัทนั้นไม่มีเวลาที่เพียงพอในการเตรียมเอกสาร รวมไปถึงที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์มาล่วงหน้าว่า จะให้คะแนนกันอย่างไร ทำให้มีคนเข้าร่วมรู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมีการฟ้องร้องกันมากมาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์ การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,600 MW แต่ไม่แน่ใจว่า มีการปรับปรุงอย่างไร จึงทำให้มีการล็อกโควต้ากว่า 2,100 MW ให้กับผู้ที่เคยยื่นเข้ามาในรอบ 5,200 MW เมื่อตอนปี 65 เท่านั้น และเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมตามมติ กบง.
“กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ถ้าทุกท่านได้มีโอกาสลองไปดูในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า มันเป็นกระบวนการที่ทำกันมาหลายรัฐบาลและกำลังจะถูกสานต่ออีกครั้ง”
จากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบนี้ สรุปข้อพิรุธออกมาทั้งหมดจำนวน 5 ข้อ ดังนี้
1.ด้วยโครงสร้างของประเทศไทยทุกการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐ ทุกสัญญาสัมปทานที่รัฐให้เอกชนจะกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทุกคน ถ้ามีการซื้อไฟแพงต้นทุนค่าไฟของพี่น้องประชาชนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย จากการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรอบนี้ ไม่มีการประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ทำให้ประชาชนต้องเป็นคนแบกรับการจ่ายค่าไฟแพงขึ้น“ในขณะที่ประชาชนต้องเสียประโยชน์จากการจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น คนที่ได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลตั้งราคารับซื้อที่ค่อนข้างสูง และไม่ให้มีการประมูลแข่งกันเรื่องราคาเข้ามา ก็คือ เอกชนที่ได้โครงการไป และที่แย่ที่สุดการรับซื้อในปี 67 นี้ คือ การที่ยังใช้ราคารับซื้อราคาเดิมที่เคยประกาศ ผ่านไป 2 ปีก็ยังคงจะประกาศรับซื้อราคาเดิม โดยไม่มีการคิดถึงต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงทุกปีตามการพัฒนาของเทคโนโลยี”
2.การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบกำหนดเงื่อนไขกีดกัน รัฐวิสาหกิจ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกจากกระบวนการรับซื้อ ทั้งๆ ที่ กฟผ.เคยพิสูจน์แล้ว ในการทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่เขื่อนสิรินธร คนที่สามารถผลิตของถูกได้ ท่านไม่เอา
3.การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก หรือประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนให้เอกชนรู้ก่อนได้เลยว่า เขาควรจะเตรียมโครงการอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ชนะการคัดเลือก จึงทำให้มีช่องโหว่ในการตัดสิน และผู้ประเมินก็สามารถใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เพื่อเข้าข้างใครก็ได้
4.การรับซื้อ 3,632 MW นี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 2,168 MW และกลุ่มที่ 2 ที่เหลือ จนเกิดเป็นปัญหา เนื่องจาก กลุ่มแรก 2,168 MW ได้มีการกำหนดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้าร่วมการคัดเลือกว่า ให้เฉพาะคนที่เคยผ่านการคัดเลือกรอบแรกเมื่อปี 65 เท่านั้น เหมือนเป็นการล็อกมง(กุฎ)ไว้แล้ว ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้เข้าร่วมรายอื่นๆ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเพราะรู้อยู่แล้วว่า กลุ่มทุนพลังงานไหนจะได้ และต้องการล็อกโควต้าให้รายเดิมใช่หรือไม่
5.การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มอีกถึง 3,632 MW โดยไม่มีความจำเป็นนั้น ควรมีวิธีการแบบอื่น ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยไม่เป็นภาระต่อพี่น้องประชาชน อย่าง Direct PPA หรือการที่อนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดขายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าได้โดยตรง โดยจ่ายค่าเช่าระบบสายส่งของการไฟฟ้าหรือไม่ เพื่อให้ไม่เป็นภาระกับประชาชนผู้ผลิตไฟกับผู้ซื้อไฟเจรจาขายไฟกันเอง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องไปกำหนดราคาให้เขา หากเจ้าของโรงไฟฟ้าอยากขายแพงก็ไม่มีใครซื้อ หรือต่อให้ซื้อกันแพงมากๆ คนที่แบกรับต้นทุนก็คือผู้ประกอบการรายเดียว ไม่ใช่ประชาชน
ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในรอบเพิ่มเติมปี 2567 จำนวนกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอในการยกเลิกหรือหยุด เพราะแม้ว่าการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะเริ่มต้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตามเงื่อนไขของการรับซื้อระบุชัดเจนว่า กพช. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น มีอำนาจในการยกเลิกการรับซื้อได้ก่อนการลงนามซื้อขายไฟฟ้า หรือแม้แต่การออกมติใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับซื้อ กำหนดราคารับซื้อใหม่ที่เป็นธรรมก็สามารถทำได้
ทางด้าน นายณัฐพงษ์กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่อยากส่งไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธาน กพช.ที่มีอำนาจเต็มในการหยุดยั้งโดยยืนยันว่า พรรคประชาชนไม่ได้ค้านทุน ตราบใดที่กลุ่มสามารถส่งออกสินค้า และบริการที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศพวกเราสนับสนุน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกชุดที่จะต้องสนับสนุนกลุ่มทุนเหล่านั้นให้เติบโตในเวทีโลก
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ก็คือกลุ่มทุนที่เอารัดเอาเปรียบ และสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน แล้วถ่างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานก็เป็นกลุ่มทุนเหล่านั้น ทำให้ประชาชนเสียค่าไฟที่แพงกว่าความเป็นจริง แต่เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นกลับกำลังไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว จากแผนพลังงานแห่งชาติ ที่มีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินกว่าความจำเป็น ถึง 49% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด”
นายณัฐพงษ์มองว่า ถ้ารัฐบาลอยากสนับสนุนพลังงานสะอาด หรือสัญญาซื้อขายโดยตรง ก็สามารถทำได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้สัญญาสัมปทานที่ไม่มีการประมูลแบบนี้ ที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลในปัจจุบันกำลังใช้นโยบายของรัฐในการให้สัมปทานที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มหรือไม่ เรายังสามารถหยุดยั้งได้ อยู่ที่เจตจำนง และการใช้อำนาจที่ถูกต้องของรัฐบาลชุดนี้ และนายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือปฏิเสธว่าไม่รับรู้ไม่ได้ เพราะพวกเราได้อภิปรายเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ในการแถลงงบประมาณ
“นายกฯ สามารถหยุดยั้งขบวนการสูบเลือด สูบเนื้อประชาชนได้ทันที ข้อแรก อยากให้ยกเลิกการซื้อโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ยุติการดำเนินการสัมปทานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,200 MW และข้อสอง คือ สัญญาสัมปทาน 5,200 MW ไปแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 2,000 MW ที่ยังไม่เซ็นสัญญาลงนามให้เริ่มการรับซื้อไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งผมในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงอยากจะส่งต่อข้อเรียกร้องให้ดำเนินการทั้งสองข้อนี้โดยเร็ว”
ดังนั้น พรรคประชาชนอยากจะเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันติดตามวาระนี้อย่างจริงจัง ให้เป็นวาระทางสังคม เพื่อยุติกระบวนการแสนกว่าล้านบาท อย่าให้ขบวนการแบบนี้เดินหน้าต่อไปอีก โดยพรรคยินดีเป็นเจ้าภาพให้เอกชนที่เสียประโยชน์จากการเข้าร่วมขอรับสัมปทาน และมีการกีดกันการประมูล ถ้าเสียประโยชน์สามารถติดต่อมาที่พรรคประชาชน ในการฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อยุติขบวนการนี้อย่างถึงที่สุด”
อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงในยุคที่โลกต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ตอนนี้ร้อนทะลุเลข 4 จนทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่า หรือนี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่มีมากขึ้นหรือไม่ นำมาสู่การที่หลายอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานสะอาดกันมากขึ้น
พลังงานหมุนเวียน คืออะไร
พลังงานหมุนเวียน Renewable energy คือพลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้อย่างต่อเนื่องไม่มีวันหมด พลังงานหมุนเวียน มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อดีของการใช้พลังงานหมุนเวียน
1. ลดมลพิษทางอากาศ :พลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง
2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก :ช่วยลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. ความยั่งยืนด้านพลังงาน
หากจะพูดถึงเรื่องของพลังงานหมุนเวียน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่ในปัจจุบัน การใช้พลังงานหมุนเวียนกลับกลายเป็นทางเลือกที่มั่นใจและยั่งยืนมากขึ้น ได้แก่
1. พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)
พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและไม่มีวันหมดไป ซึ่งเราสามารถนำมาแปลงเป็นไฟฟ้าได้ ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในการแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งข้อดีของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในชั้นบรรยากาศอีกด้วย
บรรยายใต้ภาพ : โครมไฟที่ได้ไฟจากแผงโซลาร์เซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
2. พลังงานลม (Wind Energy)
พลังงานจากแรงลมที่หมุนกังหันลม เหมาะสำหรับติดตั้งในพื้นที่โล่งที่มีลมแรง พลังงานลมมีข้อดีคือ ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ก่อมลพิษ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการลงทุนในเครื่องใช้พลังงานลมอาจมีค่าใช้จ่ายสูงตอนแรก แต่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
3. พลังงานน้ำ (Hydropower)
พลังงานน้ำ เกิดจากการไหลของน้ำผ่านเขื่อนเพื่อหมุนกังหันน้ำที่ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญมาอย่างยาวนาน ข้อดีของพลังงานน้ำคือ ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง
4. พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)
พลังงานความร้อนใต้พิภพเกิดจากความร้อนใต้ผิวโลก เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางธรณีวิทยา เช่น ภูเขาไฟ น้ำพุร้อน ซึ่งข้อดีของพลังงานความร้อนใต้พิภพคือ ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ก่อมลพิษ และสามารถใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว
5.พลังงานชีวภาพ/ชีวมวล (Biogas/Biomass)
พลังงานชีวภาพและชีวมวลได้มาจากวัสดุอินทรีย์ เช่น เศษไม้ เศษพืช กากมูลสัตว์ สามารถนำมาเผาไหม้หรือหมักเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือความร้อน พลังงานชนิดนี้มีข้อดีคือ หาได้ง่ายในท้องถิ่น ช่วยลดปริมาณขยะ เช่นของเหลือทิ้งจากการเกษตร และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น
บรรยายใต้ภาพ : ต้องนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ทำให้ประชาชนสามารถเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน เป็นต้น
โดยสรุป พลังงานหมุนเวียน คือ ทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคต ที่ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นการช่วยส่งเสริมด้านความยั่งยืนทางพลังงาน ช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น และเป็นยังช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติของเราคงอยู่ต่อไปได้ยาวนานอีกด้วย