Authority & Harm

วอน 'นายกฯอิ๊งค์-อนุทิน'แก้เจ็ดชั่วโคตร เศษขยะกองโต545ล้านกรมโยธาฯเงียบ



กาฬสินธุ์-เปิดศักราชใหม่ ปีงูไฟอาถรรพ์เจ็ดชั่วโคตร ชาวเมืองกาฬสินธุ์เรียกร้องไม่เลิก เขื่อนตลิ่ง สุสานเสาเข็ม เศษขยะกองโต 545 ล้านบาท กรมโยธาฯยังไม่มีคำตอบ หาผู้รับเหมาไม่ได้ แฉพ่อเมืองน้ำดำเกียร์หาย  เดือดร้อนความเป็นอยู่ ช้ำใจมาราธอน ไม่เคยลงถามข่าว อุ๊งอิ๊ง-นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยว่าไง แก้ไม่แก้ คนเดือดร้อนถามหาหลักธรรมาภิบาลปกครองแผ่นดิน ด้านแหล่งข่าวระบุปัญหานี้เกิดจากผู้มีอำนาจไม่สนใจแก้ไขปัญหา

ปัญหางานก่อสร้างโครงการท่อระบายน้ำ-เขื่อนป้องกันตลิ่ง ที่จ.กาฬสินธุ์ 8 โครงการใหญ่ ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ว่าจ้าง งบประมาณ 545 ล้านบาท มีผู้รับจ้าง 2 หจก.ขาใหญ่ ประกอบด้วย หจก.ประชาพัฒน์ - หจก.เฮงนำกิจ ทิ้งงานและถูก กรมโยธาฯ ยกเลิกโครงการไปแล้วทั้งหมด ตกเป็นข่าวฉาวยาวนานเกือบ 1 ปี เพราะไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการทางปกครอง ทางอาญา และทางแพ่ง กับผู้รับจ้างทิ้งาน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินในโครงการนี้ไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ กรณีดังกล่าวได้ถึงมือ กมธ.ปปช.ฯ ที่ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบในทุกประเด็น เพื่อนำความยุติธรรมคืนให้กับประชาชนรวมถึงเงินภาษีของประชาชนที่ต้องมีผู้รับผิดชอบและมีการเอาผิดทั้งหมดที่จะยกให้เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบ โดย ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ และ นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษา ประธาน กมธ.ปปช.ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวยังคงได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนที่เดินทางเข้ามาในตัวเมืองกาฬสินธุ์ จากปัญหาที่เกิดจากผู้รับเหมาทิ้งงาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148,200,000 บาท  และอีก 7 โครงการ รวมงบประมาณ 545 ล้านบาท ซึ่งทุกวันนี้ยังส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง

นายวิษณุ คำมีอ่อน อายุ 59 ปี ซึ่งมีบ้านพักอยู่ถนนผังเมือง 2 ชุมชนหนองเรือ-หัวคู ถนนที่เชื่อมถึงศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน 5 ปีและกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 6 ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของการแก้ปัญหาของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเลย ที่ผ่านมาเคยมีหลายหน่วยงาน ทั้ง ธรรมาภิบาลจังหวัด, ปปท., ปปช., สตง., รองประธานสภาผู้แทนฯ และกรรมาธิการ ปปช.สภาผู้แทนฯ ลงพื้นที่ ชาวบ้านก็มีความหวังว่าจะเห็นการแก้ไขปัญหาในเร็ววัน  

ล่าสุดทราบข่าวว่าทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเจ้าโครงการ ได้ผู้รับจ้างคนใหม่ เพื่อมาดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะมีใครมาเลย หรือเป็นแค่ข่าวลือซื้อเวลา หลอกชาวบ้านไปวันๆปัญหาที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไข จุดก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองยังมีหลุมบ่อ กองวัสดุ เหล็กแหลม  ขณะที่อีก 7 โครงการตามลำน้ำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์, ลำน้ำปาวชุมชนซอยน้ำทิพย์ หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำในตัวเมืองกาฬสินธุ์ รวมถึงตลิ่งแม่น้ำชี อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย กลายเป็นสุสานเสาเข็ม กองหิน วัสดุก่อสร้างที่ถูกทิ้งไว้กลายเป็นกองขยะ เห็นแล้วสลดใจ นอกจากนี้ยังต้องทนทุกข์กับปัญหาที่ตามมา ทั้งเกิดอุบัติเหตุบ่อย รำคาญกลิ่นเหม็นจากน้ำขัง รวมทั้งยังหวาดกลัวว่าจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอีกด้วย 

แหล่งข่าวระดับสูงแจ้งว่า ข้อสังเกตปัญหาโครงการ 7 ชั่วโคตรจริงๆแล้ว ต้องตรวจสอบว่าปัญหานี้เกิดจากใคร?...กรณีนี้เบื้องต้นการถอดบทเรียน มีการก่อสร้างที่ล่าช้า มีการทิ้งงาน และส่อไปในทางทุจริต เป็นการสมคบคิดเพื่อทุจริตอย่างเป็นระบบหรือไม่ การเบิกจ่ายเงินมีการเอื้อผู้รับจ้างอย่างไร มีความโปร่งใสหรือไม่ และมีการตรวจสอบ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลจริงหรือไม่ เพราะเท่าที่ติดตามเหตุการณ์เหล่านี้ เกิดจากการกระทำของคนที่มีหน้าที่ในโครงการทั้งหมด ไล่เรียงกันจาก คนแรกคือผู้รับจ้าง เมื่อเริ่มสัญญาขอเบิกเงินล่วงหน้าไปแล้ว ไม่มีเจตนาที่จะเข้าดำเนินการก่อสร้างและทำงานให้แล้วเสร็จตามรูปแบบ และระยะเวลาที่กำหนด คนที่สองคือผู้ควบคุมงาน ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่รายงานการปฏิบัติงานหรือรายงานเท็จอันเป็นการละเว้น แ

ละเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง คนที่สามคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ซึ่งมีหน้าที่บริหารสัญญา เหมือนกับมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจติดตามและบริหารสัญญาจึงเป็นเหตุให้มีการทิ้งงาน  คนที่สี่คือผู้ว่าจ้าง ได้เบิกจ่ายเงินล่วงหน้า และเงินงวดให้ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานเหมือนยังไม่แล้วเสร็จตามงวดงานจริงตามกำหนด เหมือนจะละเลยละเว้นไม่กำชับติดตามดูแล ปล่อยเวลาไม่เร่งรัด สงวนสิทธิ ยกเลิกสัญญาจ้าง แจ้งเวียนเป็นผู้ทิ้งงาน ริบหลักประกันสัญญา เรียกคืนเงินที่เบิกล่วงหน้า ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เป็นส่วนต่างจากการทิ้งงาน คนที่ห้าคือผู้มีอำนาจหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจร ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ เหมือนมีพฤติกรรมเพิกเฉยไม่เข้าช่วยเหลือแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน คนที่หกคือหน่วยงานตรวจสอบ ที่มิได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่อย่างจริงจัง จนเหมือนจะประวิงเวลา ใช้วาจาตอบสาธารณชนโดยไม่ดำเนินการเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

และเรียกเงินคืนกันซักที เหมือนคิดเพียงคนไทยลืมง่าย ปล่อยเวลาผ่านไป เรื่องเงียบหายก็จบกันไป ทั้งที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้รัดกุม เข้มงวด เป็นธรรมอย่างดีเยี่ยม แต่คนที่ถือกฎหมายที่มีหน้าที่ปฏิบัตินั้นไม่ปฏิบัติอย่างเร่งด่วน เหมือนนั่งแช่ปัญหา  จึงเกิดปัญหาโครงการ 7 ชั่วโคตรสรุปคือสิ่งเหล่านี้เกิดจากคนล้วนๆ 100% ประชาชนตาดำๆ ก็คงต้องไหว้วอนขอให้คนเหมือนกันให้มาช่วยแก้ปัญหานี้

อยากจะให้เสียงนี้ดังไปถึง คนที่เจ็ดนั่นคือนายกอิ๊งแพทองธาร และ อนุทิน ฯ มท.1 ได้โปรดเมตตามาดำเนินการแก้ปัญหานี้ให้ชาวกาฬสินธุ์ด้วย คงต้องเป็นท่านแล้วโครงการนี้ถึงจะแล้วเสร็จ และอีกอย่างคนที่มีส่วนร่วมในมาตรการสมคบคิด ทั้งหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และหก คนเหล่านี้คงต้องโดน 157 กันมั่ง รวมทั้งต้องเอาเงินของแผ่นดินมาคืน อย่าปล่อยให้นั่งกินนอนกินเงินเดือนที่มาจากภาษีพี่น้องประชาชาต่อไปเลย