In News

ผลิตภัณฑ์Harina Bioช่วยผมดกใน7วัน 'ดีอี'เตือนข่าวปลอมอย่าเชื่อ-แชร์หวั่นอันตราย



ดีอี เตือน ข่าวปลอม “ผลิตภัณฑ์ Harina Bio ช่วยกระตุ้นให้ผมหนา ดกดำภายใน 7 วัน” อย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปชช.

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ผลิตภัณฑ์ Harina Bio ช่วยกระตุ้นให้ผมหนา ดกดำภายใน 7 วัน” รองลงมาคือเรื่อง “กินลูกปลาช่อนสด ช่วยสมานแผลหลังผ่าตัด” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน ความเข้าใจผิด และมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อในสังคมเป็นวงกว้าง

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 3 – 9 มกราคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 832,298 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 380 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 358 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 6 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 148 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 51 เรื่อง 

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 69 เรื่อง 

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 46 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง 

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 10 เรื่อง 

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 18 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เรื่องของหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน  และวิตกกังวลได้ ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ Harina Bio ช่วยกระตุ้นให้ผมหนา ดกดำภายใน 7 วัน

อันดับที่ 2 : เรื่อง กินลูกปลาช่อนสด ช่วยสมานแผลหลังผ่าตัด

อันดับที่ 3 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ NPRO เป็นวิตามินฟื้นฟูเส้นเอ็นกระดูก เห็นผลภายใน 2 เม็ด

อันดับที่ 4 : เรื่อง การใช้จุกนมปลอมให้เด็กดูดตลอดเวลา ทำให้เป็นโรคหอบหืด

อันดับที่ 5 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดสินเชื่อปิดหนี้เดิม วงเงินอนุมัติ 50,000-2,000,000 บาท ติดต่อผ่านไลน์

อันดับที่ 6 : เรื่อง เลขหลุด วงใน งวดวันที่ 2 ม.ค. 68

อันดับที่ 7 : เรื่อง AOT รับสมัครเจ้าหน้าที่กดรับไฟล์ทบิน รายได้เริ่มต้น 450 บาทต่อวัน

อันดับที่ 8 : เรื่อง กฟภ. ส่งหนังสือแจ้งเปลี่ยนหม้อไฟฟรีจากโครงการมิเตอร์ยิ้ม ติดต่อ กฟภ. ใกล้บ้าน ภายใน 7 วัน

อันดับที่ 9 : เรื่อง ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อปิดหนี้ สูงสุด 2 ล้านบาท ลงทะเบียนผ่าน TikTok baac_th

อันดับที่ 10 : เรื่อง สินเชื่อธนาคารออมสิน กู้ได้ทุกอาชีพ ติดต่อผ่านไลน์ @239ilepd

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการโฆษณาเป็นเท็จ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารแบบผิดๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง” นายเวทางค์ กล่าว 

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ผลิตภัณฑ์ Harina Bio ช่วยกระตุ้นให้ผมหนา ดกดำภายใน 7 วัน” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า เพจดังกล่าวมีการโฆษณาเกินจริง โดยทำการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งหากประชาชนหลงเชื่ออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 

ด้านข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “กินลูกปลาช่อนสด ช่วยสมานแผลหลังผ่าตัด” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ไม่ควรทำตามอย่างยิ่ง การกินลูกปลาช่อนสด นอกจากจะไม่ช่วยให้แผลหายไว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจมีพยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และอาการอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com