Think In Truth

จับตาไฮสปีดเชื่อม3สนามบินจะไปต่อหรือ พอแค่นี้ โดย : ฅนข่าว 2499



แม้ว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 จนปัจจุบันมีความชัดเจนในหลายด้าน โดยมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนแต่ละปีหลายหมื่นล้านบาทหรือถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็มากกว่า 30% ของการลงทุนทั่วประเทศ

หากแต่ยังมีบางโครงการที่ยังต้วมเตี้ยมไปไม่ถึงไหน นั้นก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมืองสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ที่เปิดประมูลไปตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือกลุ่มซีพี รูปแบบการลงทุน เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ผ่านมากว่า 5 ปี ยังไม่มีการลงเสาเข็มแม้แต่ต้นเดียว นอกจากเวนคืน ปรับปรุง และเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร่าง

 

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. กับเอกชนคู่สัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นอุบัติภัยรูปแบบใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิด ทำให้แผนงานทุกอย่างหยุดชะงัก และอยู่นอกเหนือการควบคุม

อีอีซีให้เหตุผลในการปรับเปลี่ยนสัญญาว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของรัฐกับเอกชน มีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำอย่างไรให้โครงการเดินไปสู่เป้าหมาย โดยไม่มีความได้เปรียบ เสียเปรียบของทั้งสองฝ่าย จึงมีการปรับสัญญาให้เกิดความลงตัว แทนที่จะมาตั้งแง่ว่าใครผิด ใครถูก จนนำไปสู่การฟ้องกันในบั้นปลาย และโครงการต้องหยุดชะงักกลางคัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และประเทศชาติเสียประโยชน์มากที่สุด เหมือนกับหลายโครงการที่เคยเกิดมาในอดีต

 

ที่มา : www.eeco.or.th

อย่างไรก็ตามจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือ บอร์ดอีอีซี ครั้งที่ 1/2568 ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการหารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งนี้ ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยมอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว

ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่อไปนั้น รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ หลังจากนั้น รฟท. จะออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2568 นี้ สรุปก็คือ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เราจะเห็นเสาต้นแรกของโครงการนี้ปักลงในเดือนเมษายน 2568

นอกจากเรื่องการปรับสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว ที่ประชุมยังเห็นชอบการขยายพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบ เพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบินบริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) และเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบินและเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน

อีกทั้งบอร์ดอีอีซียังเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยขยายเจตนารมณ์ของโครงการที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม จากเดิม “ระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือPrototype development” เพิ่มเติมเป็น “ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการใช้งานต่อเนื่อง หรือ Product on shelf” ซึ่งเป็นระดับที่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตต้นแบบทดสอบ ทดลอง และผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีคุณภาพพร้อมส่งมอบต่อผู้บริโภคในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีการผลิตที่สะอาดและมีมลพิษต่ำ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ เป็นต้น 

ภาพประกอบ: บอร์ดอีอีซี เห็นชอบ การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ คือ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ เนื้อที่ประมาณ 1,172 ไร่ บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์  ดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ประมาณ 156,000 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้วยังจะมีการปรับแผนผังการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ดังกล่าว มีเนื้อที่ ประมาณ 975 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,454 ไร่ โดยคาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและภาคธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าล่าสุดของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี