Digitel Tech & Innovation

ฟิลิปส์ชวนอัปเดต10เทรนด์เทคโนโลยี ทางการแพทย์ในปี2025



ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นปัญหาสำคัญในวงการสาธารณสุข องค์กรด้านเฮลท์แคร์และผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขทั่วโลกจึงจำเป็นต้องพัฒนาและหาแนวทางในการให้บริการสาธารณสุขที่ดีกว่าพร้อมๆไปกับการตระหนักถึงความสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในบทความนี้จะขอนำทุกท่านไปอัปเดต10 เทรนด์เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปีค.ศ. 2025 ที่จะมาช่วยส่งมอบการดูแลรักษาที่ดีกว่าให้กับผู้คนได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน

1. Generative AI: เทคโนโลยีที่มาเป็นผู้ช่วยเพื่อลดเวลาทำงาน

เมื่อจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและต้องรับภาระงานที่หนัก ผู้บริหารชั้นนำในวงการเฮลท์แคร์จึงหันมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยจากผลสำรวจ 2024 Philips Future Health Index reportเผยให้เห็นว่า 92% ของผู้บริหารชั้นนำในวงการเฮลท์แคร์เชื่อว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากร โดยเทคโนโลยีอัตโนมัติสามารถช่วยลดงานและกระบวนการที่ซ้ำซ้อนได้ในขณะที่กว่าร้อยละ 90 ยังเชื่อว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติจะลดภาระงานด้านเอกสาร ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น

Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้น85% ของผู้บริหารชั้นนำในวงการเฮลท์แคร์ทั่วโลกจึงหันมาลงทุนหรือมีแผนที่จะลงทุนในGenerative AI ภายในสามปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าเทรนด์นี้จะมาแรงในช่วงปี 2025 นี้

ในปัจจุบันGenerative AI สามารถเป็นผู้ช่วยเสมือนจริงที่ช่วยลดระยะเวลาทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยโมเดลด้านภาษาขนาดใหญ่ที่มาช่วยจัดระเบียบบันทึกทางคลีนิกและช่วยสื่อสารข้อมูลผู้ป่วยระหว่างทีมต่างๆ ให้เป็นไปได้อย่างง่ายดาย สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง Generative AI สามารถช่วยด้านการจัดการรายงานประวัติผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้ป่วยได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยจัดงานรายงานและประมวลผลข้อมูลทางการแพทย์ที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายได้อีกด้วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาตัวเองได้

2. ทำให้การวินิจฉัยที่ซับซ้อนเป็นเรื่องง่ายด้วย AI

แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยปรับปรุงการการทำงานด้านบริหารจัดการและเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยได้อย่างมาก แต่บทบาทของ AI ในด้านสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงแต่ในด้านการทำงานระบบอัตโนมัติ แต่AI ยังสามารถช่วยยกระดับทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางขาดแคลนในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก แต่หากมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้จะช่วยให้การวินิจฉัยที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น และช่วยให้บุคลากรรุ่นใหม่สามารถให้การดูแลรักษาที่มีประสิทธภาพได้อย่างมั่นใจ

ตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีAI ทำให้การสแกนหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ cardiac CTเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถเข้าถึงเครื่องมือได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มศักยภาพและส่งมอบบริการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์น้อยยังสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางที่ส่วนกลางผ่านระบบทางไกล หรือการฝึกอบรมผ่านทางออนไลน์ เพื่อให้มั่นใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การนำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการรักษามะเร็งยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในด้านช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจที่เกิดจากการรักษามะเร็ง อย่างการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัด โดยงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดใดที่ผ่านการรักษามะเร็ง มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจสูงถึง 37% [1] ด้วยเทคโนโลยี AI ล่าสุดสามารถตรวจจับสัญญาณของการเป็นพิษต่อหัวใจ (cardiotoxicity) ได้เร็วขึ้นในระหว่างการรักษา ผ่านระบบตรวจจับอัตโนมัติในการวัดค่าการทำงานของหัวใจ (Echocardiographic) และช่วยปรับปรุงกระบวนการทำซ้ำและลดเวลาในการศึกษาผล ช่วยให้กระบวนการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการรักษาล่าช้า ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเผชิญกับโรคหัวใจที่รุนแรงหลังการรักษา

3. ศัลยกรรมยุคใหม่

การปฏิวัติเงียบๆ ในวงการศัลยกรรมได้เริ่มแผ่ขยายเป็นวงกว้าง เมื่อการผ่าตัดเล็ก (minimal invasive) กำลังเข้ามาแทนที่การผ่าตัดใหญ่แบบดั้งเดิม โดยการผ่าตัดเล็กมาเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาแบบเดิมโดยเฉพาะในด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดความเจ็บปวด และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้ดีขึ้น

จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้การศัลยกรรมหรือผ่าตัดเล็กแบบ minimally invasive ก้าวหน้าไปอีกขั้น แต่ก็มีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน แพทย์จำเป็นต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพเอ็กซเรย์ 2มิติแบบภาพสด, ภาพจากอัลตราซาวด์แบบ 3 มิติ, การตรวจด้วยอัลตราซาวด์หลอดเลือด (IVUS) และการวัดการไหลเวียนของเลือด (FFR หรือ iFR) และในขณะเดียวกันก็ต้องประเมินและติดตามภาวะของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการเชื่อมต่อของระบบ ซอฟต์แวร์ และเครื่องมือต่างๆ จึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นการบูรณาการระบบเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ศัลยกรรมสามารถวางแผนการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้ด้วยความมั่นใจ

ตัวอย่างนวัตกรรมล่าสุดของฟิลิปส์ในกลุ่ม Image-guided therapy ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเพราะทุกๆ 2 วินาที จะพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตทั่วโลก และเป็นสาเหตุหลักของภาวะความพิการในระยะยาว อย่างไรก็ตาม น้อยกว่า 5% ของประชากรทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที ด้วยการสวนหลอดเลือดแบบไม่ต้องผ่าตัด(mechanical thrombectomy) หรือการผ่าตัดเล็ก (minimal invasive) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง [2]นอกจากนี้การเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและเพิ่มการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับเทคนิคการรักษาแนวทางใหม่ล่าสุดแบบผ่าตัดเล็ก ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ฟิลิปส์มุ่งมั่นจะทำต่อร่วมกับองค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization)

4. ความสำคัญของข้อมูลในการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤต

การดูแลผู้ป่วยวิกฤต เวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่มักจะไม่ทันการณ์เสมอ บุคลากรทางการแพทย์มักจะเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากหลากหลายแหล่ง การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศที่เชื่อมต่อเป็น
วงกว้างสำหรับติดตามอาการผู้ป่วยจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลจากเครื่องมือและเทคโนโลยีที่แตกต่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกจุดในโรงพยาบาล

ในปี 2025 เราจะได้เห็นความก้าวหน้าของเครื่องติดตามสัญญาณชีพที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบข้อมูลสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลจากเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หลากหลาย เราจะได้เห็นการบูรณาการของเครื่องมือทางการแพทย์และการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีจากหลากหลายแบรนด์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยวิกฤตให้กับผู้ให้บริการสาธารณสุข ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพทางคลีนิก ความแม่นยำของข้อมูล และการเพิ่มเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมจะช่วยทำให้ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ สามารถ "สื่อสาร" กันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สามารถส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างสะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ การทลายกำแพงของการเชื่อมต่อข้อมูลจะทำให้เราสามารถพัฒนาอัลกอริธึมที่ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถประเมินและคาดการณ์อาการของผู้ป่วยได้ล่วงหน้า และป้องกันความรุนแรงในผู้ป่วยได้

เราเพิ่งจะเริ่มหาแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต เพื่อการตั้งค่าแจ้งเตือนหากพบความผิดปกติหรือกรณีฉุกเฉิน ในอนาคต เทคโนโลยี AIจะสามารถให้คำแนะนำเฉพาะบุคคลได้ ด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยกับเคสอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันหลายพันเคส เพื่อหาแนวทางรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

5. การดูแลรักษาที่บ้านที่เพิ่มขึ้น

เทรนด์เทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ได้มีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญไม่แพ้กันและกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในปี 2025 คือการดูแลสุขภาพนอกโรงพยาบาล โปรแกรม "การดูแลรักษาที่บ้าน" (Hospital-at-home)มีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาเหมือนในโรงพยาบาลจากทุกที่

เทคโนโลยีการติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วยระยะไกล (Remote patient monitoring) มีบทบาทสำคัญ ด้วยการส่งผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยประเมินและดูแลผู้ป่วยจากระยะไกล นอกจากนี้ยังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเช่นผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวอีกด้วย และสามารถติดตามอาการผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้อย่างเร็วขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงในโรงพยาบาลที่มีอย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้มากขึ้น

ในปี 2025 เราจะได้เห็นความก้าวหน้าของ AI และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive analytics)
ที่จะมาช่วยติดตามและประเมินความเสี่ยงของอาการผู้ป่วยจากระยะไกล โดยใช้ข้อมูลสัญญาณชีพและข้อมูลอื่นๆ ในการประเมินร่วมกันจากรายงาน Future Health Index 2024 พบว่าเทคโนโลยีติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วยจากระยะไกล จะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการนำ AI มาใช้มากที่สุดในอีกสามปีข้างหน้า และ41% ของผู้บริหารชั้นนำในวงการเฮลท์แคร์วางแผนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีนี้ การใช้เทคโนโลยีติดตามสัญญาณชีพระยะไกลไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการกลับเข้าโรงพยาบาลได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความสบายใจเมื่อได้อยู่ที่บ้าน

6. เทเลเฮลท์(Telehealth) สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกที่

การรักษาพยาบาลผ่านทางออนไลน์ (Virtual Care) เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 จนถึงวันนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านบริการสาธารณสุขทั่วโลก เพื่อผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขที่ดีกว่าด้วย ทรัพยากรที่อยู่อย่างจำกัด การเข้าถึงระบบสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล หรือชุมชนที่ด้อยโอกาสเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเท่าเทียม และการดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง

อย่างการใช้เครื่องติดตามสัญญาณชีพทางไกลและการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ณ จุดบริการตรวจ ร่วมกับการปรึกษาผ่านทางวิดีโอออนไลน์แบบเรียลไทม์ เป็นหนึ่งในแนวทางการดูแลรักษาแบบเทเลเฮลท์ (Telehealth) ที่เข้ามาช่วยให้ผู้คนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มากขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม อีกทั้งยังช่วยลดการเดินทางไปพบแพทย์ที่อยู่ห่างไกลได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเทเลเฮลท์แพทย์ประจำ ณ สถานพยาบาลปฐมภูมิจะสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ถึง40% ร่วมกับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผ่านทางอนไลน์ [3]

ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีการดูแลรักษาทางไกล (Telemedicine) ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในประเทศอินโดนีเซีย เผชิญกับความท้าทายด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เนื่องจากเป็นภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขตามยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของรัฐบาล การดูแลรักษาทางไกล (Telemedicine) เครื่องติดตามสัญญาณชีพทางไกล และ AI เป็นเครื่องมือสำคัญของอินโดนีเซียที่ใช้เพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยแม้ในพื้นที่ห่างไกล

7. ข้อมูลสารสนเทศและดิจิทัลเฮลท์ตอบโจทย์พ่อแม่ยุคใหม่

การเลี้ยงดูลูกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการใช้สมาร์ทดีไวซ์และแอปพลิเคชันต่างๆ พ่อแม่ยุคใหม่เข้าถึงข้อมูลที่ช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีAI ที่ไม่เพียงแต่สามารถช่วยในการติดตามและประเมินด้านสุขภาพ แต่ยังสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกและคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมของเด็กได้อีกด้วย

ในปี 2025 นี้คาดว่าจะมีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ใช้แอปพลิเคชันและเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยในการดูแลลูกๆ โดยงานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า 80% ของพ่อแม่ในสหรัฐอเมริกาและ 79% ของพ่อแม่ในยุโรปสวมใส่หรือใช้อุปกรณ์สมาร์ทเทคโนโลยี[4,5] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการนำข้อมูลจากสมาร์ทเทคโนโลยีเหล่านั้นมาช่วยในการดูแลด้านความปลอดภัยและสุขภาพของลูก

อุปกรณ์ภายในบ้านเชื่อมต่อกันมากขึ้นผ่านระบบสมาร์ทโฮม (Smart Home) ทำให้พ่อแม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟีเจอร์วิดีโอและการฟังเพลงผ่านโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สวมใส่ (wearables) และสมาร์ทดีไวซ์ เช่น ถุงเท้า จุกนม และเครื่องติดตามต่างๆ สามารถให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับกิจกรรมหรือสัญญาณชีพของเด็กๆ ได้ รวมถึงการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย และอัตราการเต้นของหัวใจด้วยอุปกรณ์ติดตามที่มีAI บางอย่างยังสามารถแปลเสียงร้องของทารก เพื่อให้ผู้ปกครองทราบถึงความต้องการของลูก เช่น ความหิว หรือความต้องการอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้น

เป็นที่ชัดเจนว่าเครื่องมือดิจิทัลกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการเลี้ยงดูลูกยุคใหม่และถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่สามารถทดแทนการดูแลลูกด้วยการลงมือทำจริงๆ แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และช่วยให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจในการดูแลลูกมากขึ้น

8. นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

จากเทรนด์เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กล่าวถึงข้างต้น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่ศักยภาพอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงวงการสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และ AI ยังช่วยในด้านการพัฒนาความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์อีกด้วย

อุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกถึง 4.4% [6] ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งแต่เทคโนโลยีAI สามารถช่วยวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานและระบุจุดที่ต้องปรับปรุงได้ไม่ว่าจะเป็น การลดขยะและของเสีย หรือการปรับปรุงการจัดการสถานพยาบาล นอกจากนี้ AI ยังช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยแต่ทำให้ลดการใช้พลังงานต่อการสแกนแต่ละครั้ง ดังนั้นการใช้ AI เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่าจับตาสำหรับปี 2025 และปีต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้งาน AI มากขึ้น อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ไม่คาดคิดต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากดิจิทัลโซลูชั่นส์จำเป็นต้องใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการและการจัดเก็บข้อมูล พร้อมกับการใช้น้ำเพื่อทำความเย็นให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีความร้อนสูง ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนในการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ นอกจากนี้ การใช้AI ยังเพิ่มการใช้พลังงานถึงปีละ 26% ถึง 36% และการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์อาจเพิ่มขึ้น3 เท่าภายใน 4 ปี [7] ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องตระหนักในขณะที่ Generative AI ถูกคาดการณ์ว่าจะสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 2.5 ล้านตันภายในปี 2030 [8] ขณะที่เราขับเคลื่อนวงการเฮลท์แคร์สู่ยุคดิจิทัล ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมที่คำนึงสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงาน ทรัพยากร และน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว

9. ความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ หรือประมาณ 71% มาจากห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง ไปจนถึงกระบวนการกำจัดสินค้าหรือบริการ [9] จริงๆ แล้ว การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จาก 3 ภาคส่วนคาดว่าจะช่วยลดผลกระทบได้ถึง7 เท่าเทียบกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากการดำเนินงานขององค์กร องค์กรด้านสาธารณสุขเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อผลประกอบการในระยะยาวอีกด้วยดังนั้นความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ความโปร่งใสและความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไปจนถึงความร่วมมือกับซัพพลายเออร์จากรายงาน Future Health Index ปี 2024พบว่าภายในสามปีข้างหน้า 41% ของผู้บริหารชั้นนำในวงการเฮลท์แคร์มีแผนที่จะเลือกซัพพลายเออร์ที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และ 41% ของผู้บริหารชั้นนำในวงการเฮลท์แคร์ยังมีแผนที่จะใช้กลยุทธ์การจัดซื้ออย่างยั่งยืน ที่รวมถึงการใช้อุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วยในขณะที่ ฟิลิปส์ มุ่งมั่นทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและนำแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนมาใช้ ซึ่งการจัดหาสินค้าและบริการอย่างมีความรับผิดชอบนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ทั้งห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ได้

ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Refurbishment ที่เน้นการใช้วัสดุสิ้นเปลืองและพลังงานน้อยลง การใช้อุปกรณ์ให้นานขึ้นผ่านการอัพเกรด และการนำกลับมาใช้ซ้ำ จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดขยะได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดเครื่องมือการแพทย์ที่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ (Refurbished) จะเติบโตจาก 17.05 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 ไปถึง 30.78 พันล้านดอลลาร์ในปี 2029 [10]

 

10. การสร้างระบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีที่รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านอากาศ

 

เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกกำลังก่อให้เกิดความท้าทายโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
การเสียชีวิตและโรคที่เกิดจากความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม มลพิษทางอากาศ ไฟป่า และอื่นๆ [11] สถานพยาบาลหลายแห่งมีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แต่ไม่ทุกแห่งที่สามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้ และไม่เพียงการรับมือกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ระบบสาธารณสุขและสถานพยาบาลยังต้องเตรียมรับมือด้านการดำเนินงานและสถานประกอบการด้วย

ในปี 2025 มีการถกในประเด็นนี้มากขึ้นในระดับโลก โดยคาดว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้วงการสาธารณสุขพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทางหนึ่งคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ  แม้จะเผชิญกับภัยพิบัติทางอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน และการนำแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนมาใช้

นอกจากนี้การฝึกอบรมและเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการจัดการโรคที่เกี่ยวข้องการความร้อน หรือโรคที่มียุงเป็นพาหะ ยังช่วยเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และเสริมสร้างสุขภาพเชิงป้องกันภายในชุมชน เพื่อให้สามารถจัดการกับโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นได้

การเตรียมความพร้อมและการดำเนินการตามแนวทางข้างต้น จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น และมั่นใจในสุขภาพที่ดีของทุกคนในอนาคตได้