Biz news
สำนักงานคปภ.และภาคธุรกิจประกันภัย ประชุมผู้บริหารระดับสูงรุกอุตฯประกันภัย
กรุงเทพฯ-สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง (OIC Meets CEO 2025) ครั้งที่ 1 เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2568
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2025) ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับ นายสาระ ลํ่าซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้บริหารบริษัทประกันภัย เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุมมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก (วิภาวดีรังสิต) กรุงเทพมหานครโดยเริ่มต้นในช่วงเช้าผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้บริหารภาคธุรกิจประกันภัย เข้าสู่เวทีการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2025) ครั้งที่ 1/2568 โดยมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสรุปที่ประชุม (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีความคืบหน้าของการดำเนินการทั้ง 9 ประเด็น ดังนี้
1. ความคืบหน้าการจัดทำ Examination Form โดยมีการสื่อสารกรอบระยะเวลาการดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการจัดทำ Examination Form และกำหนดกรอบระยะเวลาการประชุมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับรองการตอบและการนำส่ง Examination Form ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด 2. ความคืบหน้าโครงการ Ignite Finance การจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ที่จะดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เข้ามาในประเทศไทย ส่งผลให้มีทรัพยากรด้านการเงินเพิ่มขึ้น และเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินแล้วว่าบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยต่อที่จัดตั้งในโครงการ สามารถโอนความเสี่ยงหรือทำสัญญาประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในประเทศได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับธุรกิจประกันภัยในประเทศ 3. การประสานความร่วมมือส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยจัดทำแนวทางการส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/การจัดกิจกรรม รวมถึงการจัดทำสื่อให้ความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อคณะทำงานจะได้ดำเนินการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบของคอนเทนต์ (Content) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันและ/หรือแบ่งสรรจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่อไป
4. การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีบทบาทในการปรับปรุงและพัฒนาข้อสอบและการยกระดับมาตรฐานความรู้และหลักสูตรการอบรม โดยสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยนำเสนอแผนงานและความคืบหน้าในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาข้อสอบ ในส่วนของการยกระดับมาตรฐานความรู้และหลักสูตรการอบรม โดยสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยนำเสนอแผนงานและความคืบหน้าในการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการอบรม
5. การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขอรับ/ขอต่อใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันภัยมีการพัฒนากระบวนการดำเนินงานและศึกษาแนวทางที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาตามข้อเสนอภาคธุรกิจ อาทิ การพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตฯ ให้สามารถได้รับใบอนุญาตฯ ได้ทันทีหลังจากผ่านการสอบและการอบรมและการเปลี่ยนสถานะใบอนุญาตสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยเป็นใบอนุญาตตัวแทนประกันภัย
6. ความคืบหน้าการนำส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ IBS Non-Life และ IBS Life มีการตรวจสอบและควบคุมความถูกต้อง ครบถ้วน ของคุณภาพข้อมูลที่นำส่งเข้ายังระบบ IBS เพื่อร่วมกันยกระดับการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัยอย่างต่อเนื่อง
7. ความคืบหน้าการพัฒนาการให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับภาคการเงิน (Open Data for Consumer Empowerment) มีแผนการพัฒนาการให้บริการการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เริ่มจากการเชื่อมโยงข้อมูลภายในภาคประกันภัย (Open Insurance) ในปี 2568 จากนั้นจึงจะขยายการเชื่อมโยงใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีในภาคส่วนอื่น ๆ (Open Data) ในปี 2569 ต่อไป ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจร่วมกับสำนักงาน คปภ. ในการกำหนดรายละเอียดในด้านต่าง ๆ เช่น ด้าน Use Case ด้านชุดข้อมูล เป็นต้น สำหรับการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย โดยสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยจะมีการจัดประชุมหารือภายในเป็นประจำทุกเดือนและจะมีการประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน คปภ. เป็นประจำทุกสองเดือน
8. การแก้ไขประกาศ คปภ. ว่าด้วยการประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย/ชีวิต ทั้งนี้มีการแก้ไขประกาศ คปภ. ว่าด้วยการประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย/ชีวิต
และ 9. กรณีมีกลุ่มบุคคลหรือบุคคลเสนอขายประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ทั้งนี้ให้บริษัทประกันภัยกำกับดูแลตัวแทน/นายหน้าประกันภัย กรณีชักชวน แนะนำ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศหรือกับบุคคลใด ๆ นอกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต/วินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และมีโทษทางอาญา รวมถึงหากพบการกระทำความผิด ให้บริษัทประกันภัยสอบสวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ก่อนจะนำส่งให้สำนักงาน คปภ. เพื่อดำเนินการต่อไป
ต่อมาที่ประชุมได้ร่วมหารือโดยแบ่งประเด็นการประชุมออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการหารือโดยมองย้อนกลับไป (Backward Looking) ว่าที่ผ่านมามีประเด็นที่ยังต้องดำเนินการและติดตามความคืบหน้าต่อไป ซึ่งมี 2 ประเด็น คือ 1. ความคืบหน้าการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าด้วยระบบ EWS รวมถึงการเปิดเผยผลการจัดกลุ่มบริษัทประกันภัยตามความเสี่ยง และ 2. การจัดทำมาตรฐานกรอบระยะเวลาสำหรับการให้บริการ Service Level Agreement (SLA) ของธุรกิจประกันภัย ส่วนที่สอง เป็นการหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน (Current Situation) โดยมี 3 ประเด็นที่ต้องติดตามคือ 1. ความคืบหน้าแนวทางการปรับปรุงประกาศ คปภ. ว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่น 2. การยกระดับประสิทธิภาพกลไกการทำงานของระบบคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ 3. ระบบฐานข้อมูลฉ้อฉลประกันภัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย ส่วนที่สาม เป็นการหารือในประเด็นที่มองไปข้างหน้า (Forward Looking) โดยมี 8 ประเด็นที่สำนักงานคปภ. และภาคเอกชนร่วมกันหารือ ประกอบด้วย 1. การกำกับบริษัทประกันภัยแบบร่วมกลุ่ม (Group Wide Supervision) ระดับ Solo Consolidation ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติกรรมการ แนวทางการติดตามการถือหุ้นธรรมาภิบาลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน 2. แผนการทบทวนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย 3. การยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบ
ธุรกิจประกันภัย เรื่อง Enterprise Risk Management and Own Risk Solvency Assessment (ERM-ORSA) 4. แนวทางการพัฒนาบุคลากรประกันภัย งานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยประจำปี 2568 และการบูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัย สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5. แนวทางการแก้ไขปัญหาค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 6. ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสาขาบริษัทประกันภัยในส่วนภูมิภาค สร้างความมั่นใจที่ยั่งยืนด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม 7. การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการข้อร้องเรียนและระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัย และ8. การเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผลการตรวจสอบความเสี่ยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและกรอบการประเมินความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ (CRAF)
สำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย OIC Meets CEO 2025 ครั้งที่ 1 ในปีนี้ สำเร็จลุล่วง และได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างดี ถือเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับ ภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยในปี 2568 อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบประกันภัยไทยอย่างเป็นรูปธรรม