Travel Sport & Soft Power

พช.ยกทัพสั่งขับเคลื่อนการประกวดผู้นำ การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ



กรุงเทพฯ-พช.ยกทัพสั่งลุย ขับเคลื่อนการประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ประเภทดีเลิศ เงินรางวัล ๑ ล้านบาท  เพื่อเชิดชูเกียรติและชิงเงินรางวัลพัฒนาตำบล 1 ล้านบาท ต่อยอดและขยายผลขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจชุมชนสร้างคุณค่า พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

มิถุนายน ๒๕๖๔  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สั่งเดินหน้าเต็มสูบเข้าสู่โค้งสุดท้าย สำหรับกิจกรรมเฟ้นหาผู้นำโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ในการเสริมสร้าง  ผู้นำชุมชนสู่ระดับดีเลิศ โดยมีตำบลผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 18 ตำบล สำหรับผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อนำกลับไปพัฒนาต่อยอดขยายผลในจังหวัด อำเภอ ตำบล สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

กรมการพัฒนาชุมชนให้ความสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่างๆ ให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ คู่คุณธรรม สามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อันจะเป็นการช่วยกันสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา  และต่อยอด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร คือ “การระเบิดจากข้างใน”  เป็นการพัฒนาชุมชนให้อยู่รอด พอมีพอกิน เข้มแข็ง และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชน ในการพัฒนาชุมชน และยังสนองต่อแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  รอบที่ 2

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) กรมการพัฒนาชุมชน  ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่างๆ  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชนให้สามารถบูรณาการงานพัฒนา ชุมชนในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม  และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

กลุ่มเป้าหมาย ผู้นำชุมชนจาก ๑,๐๐๐ ตำบล ตำบลละ ๑๕ คน รวมทั้งสิ้น ๑๕,๐๐๐ คน ขับเคลื่อนภายใต้คติพจน์ (Motto) ว่า “1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

 สถาบันการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่าน ๗ กิจกรรมดังนี้

๑.ประชุมสร้างความเข้าใจการขับเคลื่อนโครงการฯ กับผู้นำการเปลี่ยนแปลง 15,000 คน จากพื้นที่เป้าหมาย 1,000 ตำบล                                   

๒. อบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ร่วมกิจกรรม : เอามื้อสามัคคี ,เสวนา “บริหารจัดการดิน น้ำ ป่าโก่งธนูโมเดล ,การประกาศเจตนารมย์เนื่องในวันดินโลก ฯลฯ

๓. พัฒนาการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในระดับพื้นที่เป้าหมาย ๑,๐๐๐ ตำบล

๔. ติดตาม ประเมินผล“Variety ผู้นำ เพราะคุณทำ เราจึงต้อง ตามไปดู”

๕. คัดเลือก/สรรหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่น จาก 1,000  ตำบล ได้รับงบสนับสนุน 100,000 บาท นำไปพัฒนาระดับตำบล

๖.จัดเวทีสรุปผลและประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเลิศ จำนวน 18 ตำบล ได้รับงบสนับสนุน 1,000,000 บาท นำไปพัฒนาระดับตำบล

๗. กิจกรรมจัดนิทรรศการ/ถอดบทเรียนความสำเร็จ/เชิดชูเกียรติ

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานตามกิจกรรม ที่ ๖  จัดเวทีสรุปผลและประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระดับดีเลิศ โดยมีวิธีการคัดเลือกตำบลที่มีผลงานดำเงินเป็นต้นแบบจาก ๗๖ จังหวัด ผ่านการคัดเลือกสู่ระดับดีเด่น ๑๘ ตำบลต้นแบบ ตามพื้นที่เขตตรวจรชการ และกำลังเข้มข้นสู่การประกวดระดับดีเลิศ จำนวน ๑ ตำบลต้นแบบ ระดับประเทศให้มีเพียงสุดยอดหนึ่งเดียว ได้รับงบสนับสนุน 1,000,000 บาท นำไปพัฒนาระดับตำบล

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ต่อยอดและขยายผลความมั่นคงของอาหาร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบที่ 2 ต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ในปี 2563 ในการรองรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศประสบกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงวิถีชีวิตการปฏิบัติงานที่นำไปสู่การเกิดภาวะปกติแบบใหม่ (New Normal) ที่ต้องหันมาพึ่งพาตนเองเพื่อลดการแพร่ระบาด ด้วยความร่วมมือและการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน จึงจะเป็นทางรอดในระยะยาว 

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จะทำให้ 1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นผู้นำทางความคิด ตามแนวทางของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสอดคล้องกับเป้าหมายที่ยั่งยืนของ UN (องค์การสหประชาชาติ) ตลอดจนยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์พระราชทานให้พี่น้องประชาชน ซึ่งกระตุ้นให้ผู้นำภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพัฒนาการจังหวัดและพัฒนาการอำเภอ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาเป็นทัพหน้า หัวหมู่ทะลวงฟัน ใช้กุศโลบาย เพื่อเป็นการกระตุ้นเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ได้เชื่อมั่น และขับเคลื่อนงานดังกล่าว ผ่านกิจกรรมการประกวดผลการดำเนินงาน ระดับตำบลที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ผ่านกระบวนการของผู้ตรวจราชการกรมจากการคัดเลือกจำนวน 18 ตำบล ตำบลที่มีผลงานระดับดีเด่นเป็นระดับดีเลิศ  จะได้รับงบประมาณ 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) และการมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปต่อยอดให้กับตำบล ดำเนินการวันที่29-30 มิถุนายน และวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2564 จำนวน 4 วัน โดยมีกระบวนการ ดังนี้

1. มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาคี จำนวน 11 ท่าน อาทิเช่น                    

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล   เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา , ดร.นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์  อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  ,ท่านไมตรี  อินทุสุต อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ,พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล  ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา  ,คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง  ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการโทรทัศน์, คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายกบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี เป็นต้น

2. มีการจัดเวทีในการนำเสนอ ดำเนินการผ่านระบบการประชุมออนไลน์

3. เกณฑ์การคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล มีดังนี้

- บทบาทผู้นำ 15 คน ในการกระตุ้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน    

- การบริหารจัดการชุมชนที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  

- การพัฒนาขยายผลและความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้ต่อเนื่องยั่งยืน

- และคำถามพิเศษปลายเปิด จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

4. การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย

- ระดับดีเลิศ

งบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานฯ           จำนวน     1     ล้านบาท

โล่รางวัลเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลง               จำนวน     1       รางวัล

ใบประกาศเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลง             จำนวน     15      รางวัล

- ระดับดีเด่น

งบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานฯ            จำนวน 18 ตำบล ตำบลละ  1 แสนบาท

โล่รางวัลเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลง               จำนวน  18  รางวัล

ใบประกาศเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลง             จำนวน 270 รางวัล

- ระดับดี ใบประกาศเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลง จำนวน 58  รางวัล

 - ผู้สนับสนุนการดำเนินงานระดับจังหวัด โดยมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด

          โล่เชิดชูเกียรติผู้สนับสนุนการดำเนินงาน  จำนวน   76 รางวัล

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  กล่าวว่า ผู้นำชุมชน คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการและกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนให้อยู่ดี มีสุขได้ ชุมชนที่ประสงความสำเร็จในการพัฒนาไม่ว่าจะมิติใด ๆ ก็ตามล้วนแล้วแต่มีผู้นำเป็นปัจจัยความสำเร็จโดยฝากเน้นย้ำให้ผู้นำชุมชน เป็นแบบอย่างของการดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาชองเศรษฐกิจพอเพียง ให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ คู่คุณธรรม สามารถบริหารจัดการชุมชน ของตนเองได้และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งได้ไปสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี และความพอประมาณอย่างมีเหตุผล ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเชื่อมั่นว่า ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่สามารถร่วมกันแก้ไขได้นำไปสู่การพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีภูมิคุ้มกัน สามารถพึ่งตนเองได้                                                                      

จึงขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ  ที่จะช่วยกันทำให้ ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม  และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)” ภายใต้คติพจน์ (Motto) ว่า “1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งความสำเร็จของ โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง มาจากพวกเราทุกคน.