Travel Soft Power & Sport

คึกคัก!นนท.สายมูไทย-มาเลย์แห่ขอพร 'หลวงปูทอด'เหยียบน้ำทะเลจืดวัดพะโคะ



สงขลา-วันหยุดสุดสัปดาห์ นักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียแห่กราบไหว้ขอพรหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดวัดพะโคะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

วันนี้  2 กุมภาพันธ์ 2568  นักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียได้เดินทางนำครอบครัวมาที่วัดพะโคะ อ.สทิงพระ จ.สงขลา  เพื่อมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาก่อนเดินทางกลับ ทำให้บรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว โดยเข้าไปกราบไหว้และปิดทองหลวงพ่อทวดเหลืองอร่ามไปหมดทั้งองค์ รวมทั้งร่วมกันบริจาคปัจจัยเพื่อให้ทางวัดนำไปพัฒนาวัดสืบทอดพระพุทธศาสนา

หลังจากกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อทวดเสร็จแล้ว ก็ออกมาซื้อล๊อตเตอรี่ที่มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงขายเกือบ 10 แผง ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะซื้อล๊อตเตอรี่ตามเลขที่เสี่ยงใบเซียมซีได้ คนละใบสองใบเพื่อเสี่ยงโชคลาภ 

ต่อจากนั้นก็จะขึ้นบันไดไปกราบไหว้พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุและชมทิวทัศน์โดยรอบของวัดพะโคะมุมสูง ที่สามารถมองเห็นทะเลทั้งทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย

สำหรับประวัติวัดพะโคะ (วัดพระราชประดิษฐาน) เดิมวัดนี้ปรากฏว่าพระชินเสนเป็นผู้สร้างราว พ.ศ.500 ชื่อว่าวัดพระราช ประดิษฐาน ฝังวิสุงคามสีมา พ.ศ.840 พระยาธรรมรังคัลเจ้าเมืองพัทลุง  (สทิงพระรานสี) เป็นศาสนูปถัมภ์สร้างถาวรวัตถุหลายอย่างเพราะเห็นความสำคัญ ของวัดเขาพระพุทธบาทหรือวัดพระราชประดิษฐาน ครั้นต่อมา ระหว่าง พ.ศ.2091 - 2111  พระยาดำธำรงกษัตริย์(บางแห่งกล่าวว่าพระยาธรรมรังคัล) ได้นิมนต์พระมหาอโนมทัสสี พระณไสยมุยและ พระธรรมกาวา ให้ไปเอา กระบวนพระมหาธาตุ เมืองลังกา และมาสร้างเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สูงหนึ่งเส้น ห้าวา ทำพระวิหารธรรมศาลา ทำอุโบสถ สร้างกำแพงสูงหกศอกระหว่างเขต สังฆาวาสที่พักสงฆ์อาศัยหรือส่วนลดต่ำทางทิศตะวันออกเป็นพุทธาวาส สถานที่ ปลูกสร้างปูชนียวัตถุโบราณสถาน เช่น พระวิหาร พระพุทธไสยาสน์ชื่อว่า พระพุทธโคตมะ ชื่อวัดพระราชประดิษฐานเดิมไม่นิยมใช้เรียกกันครั้นต่อมา วัดพระโคตมะ เรียกเพี้ยนเป็นวัดพะโคะ

ในกาลครั้งนั้นกษัตริย์หัวเมืองพัทลุง (สทิงพระ) และคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทำฎีกาเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาขอทำกัลปนา ต่อพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่กัลปนาแก่วัดอารามต่างๆ   ในเขตหัวเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง(ดังปรากฏว่าด้วยการพระ ราชทานที่กัลปานาสำเนาจากหนังสือเทศาภิบาลเล่ม 1 ที่นำมาลงพิมพ์บางตอน พอเป็นสังเขปซึ่งเกี่ยวกับพะโคะเท่านั้น)  

ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา