Travel Sport & Soft Power

เกษตรราชบุรีถกไม่หนุนเลี้ยงด้วงสาคู



ราชบุรี - เกษตรเมืองโอ่ง ประชุมแก้ปัญหาเลี้ยงด้วงสาคู เผยจังหวัดไม่สนับสนุนแต่ไม่ห้าม

วันที่ 25 มิ.ย.64 ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจ.ราชบุรี นางดวงสมร พฤฑฒิกุล เกษตรจังหวัดราชบุรี ได้เชิญกลุ่มผู้เลี้ยงด้วงสาคู หรือ ด้วงงวงมะพร้าว และ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว มาประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการด้วงสาคู หลังเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวกังวลใจ เกรงว่าพ่อแม่พันธุ์ด้วงจะหลุดรอดออกสู่ธรรมชาติ จนเกิดการระบาด สร้างความเสียหาย ไม่สามารถควบคุมได้ โดยมี นางพัชรมณฑ์ ศิริเลิศวิมล ผอ.กลุ่มส่งเสริมการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช พร้อมด้วย น.ส.ภัทรมาศ พานพุ่ม ผอ.กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท หน.กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กลุ่มกีฏและสัตววิทยา เข้าร่วมประชุมและให้คำแนะนำเชิงวิชาการ

นางดวงสมร เกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีประชาชนหันมาทำอาชีพเพาะเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อเป็นรายได้เสริมกันมากขึ้น หน่วงงานจึงทำการสำรวจและเก็บข้อมูล เบื้องต้นพบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงกระจายอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.จอมบึง อ.ดำเนินสะดวก และอ.บางแพ รวม 13 ราย 2,069 กะละมัง โดยแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่ อ.บางแพ 1,110 กะละมัง

ในขณะที่ จ.ราชบุรี มีมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดกว่า 4,000 ล้านบาท พื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่า 83,000 ไร่ มีเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรกว่า 5,000 ราย ทางจังหวัดจึงไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการเลี้ยงด้วงสาคูในพื้นที่ เนื่องจากด้วงเป็นศัตรูพืช จึงไม่เหมาะสมที่จะเลี้ยงในแหล่งพืชอาหาร แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดก็ไม่ได้ห้ามหากประชาชนต้องการจะเลี้ยงด้วงสาคู

ทั้งนี้ หลังจากการประชุม ได้มีมติในเบื้องต้นร่วมกันคือ ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำข้อกำหนดมาตรฐานฟาร์มด้วงสาคู ในส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงทุกคนต้องผ่านการอบรมวิธีการเพาะเลี้ยงด้วงสาคูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ดำเนินการขึ้นทะเบียนฟาร์มทุกราย และหากเลิกเลี้ยงจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าดูวิธีการทำลายพ่อแม่พันธุ์ของเกษตรกร

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี