Travel Soft Power & Sport
ยางตลาดผุดหมู่บ้านโบราณจัดสืบสาน ประเพณีโชว์ของดีอีสาน
![](images/1739026747-1.jpg)
กาฬสินธุ์-อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเต็มบุญคูณลานสืบสานประเพณีบูชาพระแม่โพสพ เทพเจ้าแห่งข้าวตามคติความเชื่อ นำข้าวเปลือกเข้ากองบุญช่วยเหลือครัวเรือนยากไร้และกลุ่มเปราะบาง ไฮไลต์พิเศษสุดผุดหมู่บ้านโบราณ แสดงวิถีชีวิตชาวอีสาน และนิทรรศการของดีประจำถิ่นหลากหลากหลาย เพื่อเป็นโฮมสเตย์และซอฟต์พาวเวอร์แห่งการท่องเที่ยว ต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกฤดูกาล
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จัดงานประเพณีบุญคูณลาน และมหกรรมของดีอำเภอยางตลาด ประจำปี 2568 โดยเนรมิตพื้นที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอและบริเวณด้านหลังที่ว่าการอำเภอกว่า 7 ไร่ เป็นสถานที่จัดงาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก
นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ประเพณีบุญคูณลาน เป็นหนึ่งในฮีต 12 คอง 14 ตามขนบธรรมเนียมไทย จัดขึ้นในช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรคือข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลัก เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีบูชาพระแม่โพสพ เทพเจ้าแห่งข้าวตามคติความเชื่อ และให้อนุชนรุ่นหลังได้ร่วมสืบสาน โดยจะมีการประกอบพิธีสู่ขวัญข้าวและรำบวงสรวง แสดงความกตัญญูกตเวที พร้อมกับมีการจัดกิจกรรมประกอบมากมาย สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด และอาชีพเสริมที่หลากหลาย พร้อมจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สร้างโอกาสให้เกิดการค้าขาย กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
นายเอกรัตน์กล่าวอีกว่า รูปแบบของการจัดงานประเพณีบุญคูณลานประจำปีนี้ ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จาก 15 ตำบล 208 หมู่บ้าน ร่วมบริจาคข้าวเปลือกและทุนทรัพย์ตามจิตศรัทธานำมาเป็นกองบุญ เข้ากองทุนช่วยเหลือครอบครัวยากไร้ และกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นการร่วมกันทำบุญใหญ่ในโอกาสเดียวกันอีกด้วย
“กิจกรรมภายในงาน นอกจากจะได้ร่วมกันประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญข้าว และรำบวงสรวงพระแม่โพสพ เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความกตัญญูแล้ว ยังมีการจัดซุ้มนิทรรศการของดีแต่ละตำบลและหมู่บ้าน เปิดโอกาสให้ประชาชนนำสินค้า OTOP และผลผลิตทางการเกษตร พืชผัก สินค้าวิสาหกิจชุมชนมาจำหน่าย มีการประกวดซุ้มท้องถิ่น ประกวดขบวนแห่ ประกวดการแสดงกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประกวด TO BE NUMBER ONE การประกวดอาหาร การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งท้องถิ่นท้องที่ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และที่ถือว่าเป็นไฮไลต์พิเศษสุดคือการสร้างหมู่บ้านแบบโบราณ 7 หลังที่บริเวณด้านหลังที่ว่าการอำเภอ” นายเอกรัตน์กล่าว
นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านโบราณทั้ง 7 หลังนั้นเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง ทั้งนี้ ได้ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน รวบรวมไม้เก่ามาช่วยกันปลูกสร้างบ้านเมื่อปีที่ผ่านมา โดยปลูกสร้างเรียงรายบนพื้นที่ที่เคยว่างเปล่า ตรงข้ามแหล่งน้ำสาธารณะหนองหมาจอก ต่อมาได้ปรับพื้นที่บางส่วนเป็นแปลงนาสาธิตเพาะปลูกข้าวเหนียว “พันธุ์บ้านยาง” ซึ่งบริเวณบ้าน บนบ้านและใต้ถุนบ้านแต่ละหลัง จะแสดงรูปแบบวิถีอีสาน หรือการดำเนินชีวิตของชาวบ้านชนบทอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงกบ เป็ด ไก่ ไว้เป็นอาหาร ใต้ถุนบ้านมีการทอเสื่อ ทอผ้า ขณะที่บนบ้านมีแอ่งน้ำ หรือภาชนะกักเก็บน้ำที่ปั้นจากดินเผา ตักด้วยกระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าว มีการทำห้องครัวไว้บนบ้าน เป็นต้น
“การปลูกสร้างบ้านโบราณดังกล่าว นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบอีสานดั้งเดิมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมและติดต่อพักแรมในรูปแบบโฮมสเตย์ เพื่อเสพบรรยากาศแบบลูกทุ่งๆอีสาน ทั้งนี้ ยังมุ่งหวังให้เป็นทั้งแลนด์มาร์คและซอฟต์พาวเวอร์แห่งการท่องเที่ยว ประจำอำเภอยางตลาด สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทุกฤดูกาลอีกด้วย สำหรับงานประเพณีบุญคูณลานที่อำเภอยางตลาดปีนี้ นอกจากจะได้ชมกิจกรรมต่างๆภายในงานอย่างจุใจแล้ว ยังได้เที่ยวชมหมู่บ้านโบราณ ได้ย้อนรำลึกสภาพความเป็นอยู่ของชาวอีสานในอดีต ถือเป็นกำไรชีวิต และคุ้มค่า เกิดความประทับใจแน่นอน” นายเอกรัตน์กล่าวในที่สุด