Travel Soft Power & Sport

ปธ.กมธ.การศาสนาฯศิลปะฯวุฒิสภาฯลุย ตรวจแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน 



นครราชสีมา-"สว.เอมอร"ปธ.คณะกรรมาธิการการศาสนาฯศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภาฯ ตรวจแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน 

วันที่ 7กุมภาพันธ์ 2568 เวลา15.30น.  ที่แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน ถ.พลแสน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นางเอมอร ศรีกงพาน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรมจริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ลงพื้นที่ติดตามผลดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้โครงการศึกษาร่องรอยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา 

การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครั้งนี้มีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมด้วยนายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา, ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลก, นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์, นางประกายมาศ กิริวัฒนศักดิ์ ร่วมเยี่ยมชม

สำหรับการขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้โครงการศึกษาร่องรอยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา ณ แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.–12 ก.พ. 2568 บริเวณเดียวกับที่ได้ทำการขุดค้นครั้งแรกเมื่อปี 2567 

พื้นที่ดังกล่าวได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งหมด 6 โครง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 2 โครง และพบโบราณวัตถุ ภาชนะดินเผาแบบที่มีชื่อทางวิชาการว่า “พิมายดำ” เครื่องมือเหล็ก กระสุนดินเผา ชิ้นส่วนสำริดและอุปกรณ์สำหรับทอผ้า ได้แก่ แวดินเผา ขณะที่การขุดค้นที่ระดับความลึก 100-180 เซนติเมตรจากผิวดินพบการฝังศพของมนุษย์ในลักษณะนอนหงาย เหยียดยาว ทั้ง 6 โครง ถูกฝังร่วมกับสิ่งของที่อุทิศให้กับผู้ตาย 

ความพิเศษอยู่ที่โครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 1 พบการฝังภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วว่า แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน เป็นแหล่งฝังศพของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก ซึ่งมีอายุสมัยอยู่ในช่วง 2,400-1,500 ปีมาแล้ว 

การดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนี้ นอกจากนักโบราณคดีของกรมศิลปากรแล้ว ยังมีอาสาสมัครโบราณคดีราชสีมา จากนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา และสาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เข้ามาเป็นผู้ช่วยขุดค้นทางโบราณคดี ตลอดจนใช้กระบวนการทางชีววิทยาเพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโบราณของพื้นที่บริเวณนี้ต่อไป 

กรณีนี้นับเป็นการบูรณาการกษา ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  นอกจากนี้ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมายังเปิดนิทรรศการข้างหลุมขุดค้น เรื่อง “สืบร่องรอยมนุษย์โบราณ เมืองเก่านครราชสีมา จากหลักฐานทางโบราณคดี” ให้ประชาชนในพื้นที่  ตลอดจนผู้สนใจเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้ควบคู่ไป


 
ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมการขุดค้นในช่วงเวลา 09.30 น ถึง 16.00 น. ไปจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะมีนักโบราณคดีคอยบริการให้ความรู้ อันจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรัก และหวงแหน มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นครราชสีมา / กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ