In Global
จับตาเทรนด์บริโภคใหม่ในจีน‘ใช้จ่ายเพื่อ แชร์ประสบการณ์’

ปักกิ่ง, 17 ก.พ. (ซินหัว) – ปัจจุบัน กำลังเกิดแนวโน้มการบริโภคใหม่ในจีน โดยเยาวชนให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายในสินค้าที่สร้างความสุข ประสบการณ์ที่สามารถแบ่งปันได้ และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี (People’s Daily) ของจีนรายงานว่า แนวโน้มนี้ได้รับการขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนหนุ่มสาว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดผู้บริโภค พฤติกรรมและความชอบของคนกลุ่มนี้กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีนสร้างปัจจัยการเติบโตใหม่ๆที่ช่วยกระตุ้นพลวัตของเศรษฐกิจ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เยาวชนให้ความสำคัญคือ “คุณค่าทางอารมณ์” ซึ่งหมายถึงการเลือกใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ให้ความสุข เช่นเดียวกับ ติงเสียน ผู้ชื่นชอบอนิเมะ วัย 25 ปี ที่ตัดสินใจซื้อของเล่น “นาจา” ที่ร้านสินค้าจำหน่ายสินค้าแนววัฒนธรรมป๊อป ทั้งๆ ที่ตอนแรกเธอไม่ได้วางแผนว่าจะซื้ออะไรเลยก็ตาม
การขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรม เช่น อนิเมะ การ์ตูน เกม หรือ นวนิยาย กำลังได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวที่มีอำนาจการซื้อที่แข็งแกร่ง ในปี 2024 จีนมีผู้ที่ชื่นชอบโลกสองมิติ (2D) หรือ ACGN (อนิเมะ การ์ตูน เกม และนวนิยาย) ถึง 503 ล้านคน และมูลค่าตลาดของสินค้าประเภทนี้สูงถึง 5.98 แสนล้านหยวน (ราว 2.75 ล้านล้านบาท)
ความต้องการของเยาวชนในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงการเลือกสินค้าที่ไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการด้านฟังก์ชัน แต่ยังต้องมีความผูกพันทางอารมณ์ด้วย เพื่อรองรับดีมานด์นี้ ห้างสรรพสินค้าหัวซิน ในมณฑลเจียงซู จึงได้เปิดร้านค้าหลายแห่งที่มีสินค้าใหม่ๆ เช่น ร้านอาหารแฟชั่น ร้านของเล่นสุดฮิต และพื้นที่วัฒนธรรม ACGN ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายของวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคของเยาวชน คือ โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตลาดดั้งเดิมกลายเป็นสถานที่ถ่ายภาพและแชร์ประสบการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกับจางลี่หยวน ผู้บริโภคที่เกิดหลังปี 90 ที่ได้แชร์ภาพบรรยากาศตลาดหมู่บ้านเค่าซานจี ในปักกิ่ง ผ่านแอปเสี่ยงหงซู (Xiaohongshu) ซึ่งได้สร้างความสนใจจากคนหนุ่มสาวคนอื่นๆ ทางการท้องถิ่นจึงได้ปรับปรุงตลาดให้มีจุดถ่ายภาพสวยๆ และกิจกรรมวัฒนธรรม เช่น กีฬาในน้ำแข็งและหิมะ รวมถึงงานวัด เพื่อดึงดูดและตอบสนองความสนใจของวัยรุ่น
ส่วนอีกหนึ่งแนวโน้มที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มวัยหนุ่มสาวคือการเลือกซื้อสินค้าที่มีเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1990 และ 2000 เช่นเครื่องซักผ้าอัจฉริยะที่สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านแอปพลิเคชัน ผู้บริโภคหลายคนได้ติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้านเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
เจดี มอลล์ (JD Mall) ห้างสรรพสินค้าของ JD.com เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200 และจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากมีการสนับสนุนในรูปแบบของนโยบายช่วยเหลือสำหรับการซื้อขายสินค้าเทคโนโลยีอัจฉริยะ
ด้านรัฐบาลจีน ก็ได้สนับสนุนแนวโน้มนี้ด้วยการเปิดตัวโครงการต่างๆ เช่น โครงการนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่สมาแลกซื้อของใหม่ในมณฑลหูเป่ย และการให้เงินอุดหนุนการซื้อสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลใหม่ๆ ซึ่งตอบโจทย์คนหนุ่มสาวที่มองหาสินค้าคุณภาพสูง และยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
(เรียบเรียงโดย Su Dan, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/497388_20250217 , https://en.imsilkroad.com/p/344325.html)
ภาพประกอบข่าว
(ภาพปก-แฟ้มภาพซินหัว : ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “นาจา 2” ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 6 ก.พ. 2025)
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพแสดงตลาดแบบดั้งเดิมในหมู่บ้านเค่าซานจี อำเภอจินไห่หู เขตผิงกู่ กรุงปักกิ่ง วันที่ 27 ม.ค. 2025)