In Global

'จ้าวซิงโมเดล'...เป็นหมู่บ้านต้นแบบของ มณฑลกุ้ยโจวในการฟื้นฟูชนบท



ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนหมู่บ้านจ้าวซิง หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ชาวต้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ในฐานะที่หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านต้นแบบของการฟื้นฟูชนบทและการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้อย่างดี

หมู่บ้านจ้าวซิง เป็นหมู่บ้านโบราณที่มีอายุเก่าแก่กว่า 850 ปี ย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (960-1127)    เป็นหมู่บ้านที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม โอบล้อมด้วยภูเขาเขียวขจี ในปี 2005 นิตยสาร Chinese National Geography จัดอันดับให้หมู่บ้านจ้าวซิงเป็น 1-6 หมู่บ้านโบราณที่สวยที่สุดในประเทศด้วย  

หมู่บ้านนี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  และเป็นหนึ่งในหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 5,200 คน ชาวต้งยังร่วมกันสืบสานวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ไม่ให้เลือนหาย เช่น เพลงพื้นบ้าน โดยคณะนักร้องประสานเสียงเพลงพื้นบ้านชาวต้ง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขององค์การยูเนสโกด้วย  ปัจจุบัน มีการส่งเสริมเพลงพื้นบ้าน  โดยให้เยาวชนได้เรียนรู้การแสดงเพลงพื้นบ้านในโรงเรียน และจัดการกิจกรรมการแสดงเพลงพื้นบ้านในเทศกาลต่างๆ  เช่น เทศกาลหลูเซิง เทศกาลปีใหม่ เป็นต้น

การอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่บ้านจ้าวซิงช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านกว่า2,000 คน  โดยปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนหมู่บ้านจ้าวซิงกว่า 1 ล้านครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 1,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 60% จากปีก่อน 

การลงพื้นที่หมู่บ้านจ้าวซิง ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในครั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เยี่ยมชมหมู่บ้านจ้าวซิง ศูนย์นิทรรศการวัฒนธรรมชาวด้ง และศูนย์อุตสาหกรรมพิเศษการผลิตผ้าทอท้องถิ่น ที่มีการทอ การย้อมสี และการปักผ้าที่เป็นเอกลักษณ์  โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า หมู่บ้านจ้าวซิงแห่งนี้ รวบรวมเสน่ห์วัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่ลึกซึ้งและมีเอกลักษณ์  ทั้งหมู่บ้านโบราณ เครื่องดนตรี เพลงพื้นบ้านของชาวต้ง และงานฝีมือผ้าบาติก แสดงให้เห็นถึงความพยายามของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและขับเคลื่อนการฟื้นฟูชนบท
หมู่บ้านจ้าวซิงแห่งนี้จึงเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการส่งเสริมการพัฒนาชนบทของภาครัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้ฐานทรัพยากรและมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชุมชน  มาสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้นอย่างยั่งยืน

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย