Think In Truth

เจาะ!ไฮไลท์...ซอฟต์พาวเวอร์อภิมหา สงกรานต์ปี2568 โดย ฅนข่าว2499



อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลมหาสงกรานต์ซึ่งไฮไลท์ในปี 2568 ก็คือ ‘MahaSongkran World Water Festival 2025’(มหาสงกรานต์ เทศกาลน้ำโลก 2568)โดยจะจัดระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน 2568 ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และจะปักหลักแลนด์มาร์คสำคัญอยู่ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งปีนี้ได้แบ่งพื้นที่เล่นน้ำ ขายของ การแสดงที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรม ร่วมสมัยและสมัยนิยม และในวันที่ 12-13 เมษายนจะมีขบวนรถพาเหรด ขับแห่รอบพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน - ท้องสนามหลวง

สงกรานต์ เป็นคำภาษาไทยมาจากภาษาสันสกฤตใช้เรียกวันปีใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทซึ่งเฉลิมฉลองในประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา, พม่า, บางส่วนของอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ, เวียดนาม และสิบสองปันนาในประเทศจีนสงกรานต์เริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ สัญลักษณ์ดาราศาสตร์แรกในจักรราศีตาม

การเฉลิมฉลองปีใหม่ในวาระเดียวกับสงกรานต์ในประเทศต่าง ๆ จะเรียกแตกต่างกันได้แก่ โจลชนัมทเมยในกัมพูชา, ปีใหม่ในลาว, ปีใหม่สิงหลในศรีลังกา, สงกรานต์ในประเทศไทย, ตะจานในพม่า, สังเกนในรัฐอรุณาจัลประเทศและอัสสัมของอินเดีย, เทศกาลพรมน้ำในสิบสองปันนาและบางส่วนของเวียดนาม

ประชุมพงศาวดาร เรื่อง ก่อพระทรายครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ใช้คำว่า วันมหาสงกรานต์เป็นธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสืบมาแต่ก่อนทั้งพระราชประเพณีก่อพระทราย พระราชประเพณีถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พระราชประเพณีขนทรายเข้าวัดและประโคมเครื่องดุริยางค์ดนตรี เป็นต้น

หนังสือพิมพ์รัตนโกษ (หนังสือพิมพ์มิวเซียม) ฉบับจุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. 2420) รัชกาลที่ 5 มีคำสงกรานต์ปรากฏความว่า “อนึ่ง ข้าพเจ้าได้สัญญาไว้แก่ท่านทั้งหลายว่า หนังสือรวมเรื่องเล่มใหญ่นี้จะออกให้ทันในสงกรานต์หาทันไม่นั้นคือค้างช้าอยู่ ด้วยหนังสือปฏิทินต้องทำยากแลติดสงกรานต์ ผู้ที่ทำการพิมพ์ก็หยุดไปทำการสงกรานต์ตามธรรมเนียมอยู่บ้าง หนังสือจึงค้างช้าไปออกหาทันสงกรานต์ไม่” และยังปรากฏตัวสะกดอีกแบบว่า Songkrant (ตัว 't' ไม่อ่านออกเสียง) ปรากฏในเอกสารของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เอกสาร The Siam Repository (พ.ศ. 2414) ของหมอสมิธ และเอกสารขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ส่วนวารสารชื่อ KamarupaAnusandhanSamiti : กามารุปา อนุสันธาน สมิติ (Assam Research Society) ของสมาคมวิจัยรัฐอัสสัม สถาบันวิจัยเก่าแก่ที่สุดทางเหนือและตะวันออกของประเทศอินเดีย เขียนว่า Sangken (ซังเกน) หรือ Sangkran(สังกราน) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อาศัยอยู่ทางตะวันออก-เหนือของประเทศอินเดีย

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการ “เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า” ว่า ภายในเวลาอีกไม่ถึง 10 วัน ประเทศไทยจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนานของทุกคน ในปีนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างเต็มที่ โดยมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก 

โดยในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมศิลปะไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรการภาษีที่ช่วยกระตุ้นการซื้อขายงานศิลปะ โดยประชาชนที่ซื้องานศิลปะไทยสามารถนำค่าใช้จ่ายนี้ไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละ 100,000 บาท 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการภาษีเพื่อลดภาระให้กับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สามารถหักภาษีได้จากร้อยละ 30 เป็น ร้อยละ 60  ซึ่งจะช่วยลดภาระและสร้างแรงจูงใจให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือโครงการ Thai Youth Street Art (สตรีทอาร์ตของเยาวชนไทย)ซึ่งเป็นการประกวดศิลปะบนกำแพงเมือง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานในแนวคิดDream of Thailand”(ความฝันของประเทศไทย) ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ ทีมที่ชนะจะได้รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี มูลค่ารวมประมาณ 5 แสนบาท 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเชิญชวนประชาชนมาร่วมสร้างบรรยากาศสงกรานต์แบบไทย ๆ ด้วยการสวมใส่กางเกงอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ซึ่งจะพัฒนาออกมาเป็นลายพิเศษจากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce : หอการค้าผู้ประกอบการรุ่นใหม่)ของแต่ละจังหวัด เช่น ลายพยูนจากจังหวัดตรัง หรือ ลายวัวลานจากจังหวัดเพชรบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร 

19 มีนาคม 2568 ได้มีการประชุมคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ครั้งแรกในปี 2568นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31ชวนคนไทยใส่กางเกงลายอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ โปรโมทเอกลักษณ์ไทย ดันวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างความประทับใจให้ต่างชาติ

หลังการประชุมนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติพร้อมใจใส่กางเกงช้างและกางเกงลายอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ โดยได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันเพื่อโปรโมทการสวมใส่ผ้าหรือกางเกงที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ถือเป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของไทยด้วย



นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดงานมหาสงกรานต์ประจำปี2568ในเดือนเมษายนว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดงานมหาสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงที่ท้องสนามหลวง โดยท้องสนามหลวงการจัดงานจะเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 11 – 15  เมษายน 2568 ซึ่งไฮไลต์ของงาน คือ วันที่ 12 เมษายน ที่จะมีเทศกาลเฉลิมฉลอง (Carnival) หรือขบวนแห่ที่สร้างสรรค์โดยคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อทำให้ปีนี้เป็นปี “Grand Tourism and Sports Year”  (ปีการท่องเที่ยวและกีฬาครั้งยิ่งใหญ่) ตามที่ประกาศไว้ นอกจากนี้ ยังมีเวทีแสดงถึงศิลปวัฒนธรรม การเปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนได้มาขายของประจำจังหวัด

นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า  นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายในเรื่องของการใส่ผ้าไทย“ผ้าไทย ใส่สนุก”ผ้าไทยลายดอก และกางเกงลายอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น GI ประจำจังหวัด ส่วนเรื่องของกิจกรรมสงกรานต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำแผ่นพับ“ลายแทงสงกรานต์ทั่วไทย”ซึ่งจะมีการจัดงานสงกรานต์ในจังหวัดต่าง ๆ โดยจังหวัดหลักที่มีการจัดงาน ได้แก่  เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ สามารถติดตามได้ทางเว็บเพจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

บรรยายภาพ : ศิลปะมวยไทยก็เป็นอีกหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปะว่า กระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในการขับเคลื่อนเรื่องด้านศิลปะโดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลาง การจัดแสดงศิลปะนานาชาติระดับโลก ทำให้ไทยเป็นทั้งศูนย์แสดงงานศิลปะ และตลาดการซื้อขายศิลปะ หอศิลป์และการจัดเก็บผลงานศิลปะ โดยมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการหลัก คือ

1) การดึงดูดนักท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ

2) การเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับ มีความมั่นคงทางอาชีพ มีพื้นที่ในการจัดแสดงและแสดงออก

3) การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยผ่านทางผลงานศิลปะของศิลปินชาวไทย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรและกรมศุลกากร ได้นำเสนอที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปะ โดยออกมาตรการเพื่อที่จะรองรับในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านศิลปะ ดังนี้

(1)มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้องานศิลปะ โดยให้บุคคลธรรมดาที่ซื้องานศิลปะสาขาทัศนศิลป์ สามารถนำค่าซื้องานศิลปะมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีภาษีละ 100,000 บาท

(2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 60 โดยไม่กำหนดประเภทศิลปิน

ในส่วนกรมศุลกากร อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการเพื่อจัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์ ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศภายในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ คือ ของที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ได้แก่

1) เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ

2) ของที่ใช้ในการสร้าง ประกอบ หรือติดตั้งโรงงาน หรืออาคาร

3) ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์

4) ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์อื่น 

โดยภารกิจทั้งสองส่วน นี้ถือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่จะทำมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้ง การแสดงงานศิลปะ การสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ ๆ การซ่อมแซมงานศิลปะ การนำเข้างานศิลปะ และการส่งออก เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Art hub แห่งเอเชียต่อไปในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าการจัดงานประกวด Street Art (ศิลปะข้างถนน) ว่า ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา แสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่าน ศิลปะบนผนังในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้ง สถานศึกษา รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ภายใต้คอนเซปต์“Dream of Thailand”ระยะเวลาในการประกวด 29 – 30 มีนาคม 2568 นี้ โดยนำร่องระยะแรกของโครงการจะมี 33 จังหวัด 46 สถาบันอุดมศึกษา  กรุงเทพฯ 8 มหาวิทยาลัย ภาคกลาง 6 จังหวัด 6 มหาวิทยาลัย ภาคเหนือ 8 จังหวัด 10 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด 12 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออก 2 จังหวัด 2 มหาวิทยาลัย ภาคใต้ 5 จังหวัด 8 มหาวิทยาลัย โดยเปิดรับสมัครรุ่นมัธยมศึกษา และรุ่นนิสิต/นักศึกษา รวมทีมไม่เกิน 20 คน ทั้งนี้ระยะที่ 1 ทีมที่ชนะจะได้รับเงินรางวัล 500,000 บาท และโล่ประกาศเกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรี ตลอดจนประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้แล้วต้องจับตาการดำเนินการในระยะที่ 2 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ที่จะจัดให้มีการชิงทุนการศึกษาที่ต่างประเทศ คือ โอดอส ซัมเมอร์แคมป์ (ด้านศิลปะ) และไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นว่าจะสำเร็จผลตามเป้าหมายหรือไม่.