In Global

หนึ่งสายน้ำผสานอนาคต: จีน-ประเทศลุ่ม น้ำโขงเดินหน้าสร้างประชาคมร่วมชะตา



ปักกิ่ง, 1 เม.ย. (ซินหัว) - จีนและ 5 ประเทศลุ่มน้ำแม่โขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ได้บรรลุความครอบคลุมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในการสร้าง “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ในปี 2016 

การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยโครงการต่างๆ เช่น รถไฟจีน-ลาว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ตัวอย่างเช่น ตู้คอนเทนเนอร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถขนส่งไปยังตลาดท้องถิ่นอย่างรวดเร็วผ่านระบบอัตโนมัติที่สถานีหวังเจียอิ๋งตะวันตกในนครคุนหมิง 

เขตว่านโจว นครฉงชิ่ง ได้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกของจีนกับภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง โดยในปี 2024 เพียงปีเดียว มีมูลค่าสินค้าส่งออกถึง 146 ล้านหยวน (ราว 680 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ภาคธุรกิจมีบทบาทขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการขนส่ง โดยบริษัทอวิ๋นเทียนฮว่า กรุ๊ป (Yuntianhua Group) ได้เปิดให้บริการรถไฟขนส่งจีน-ลาว-ไทย สำหรับจัดส่งปุ๋ยแบบส่งถึงที่ ขณะเดียวกัน รถไฟจีน-ลาวมีการเพิ่มประเภทสินค้าที่จนส่งจนแตะมากกว่า 3,000 รายการ และเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟขนส่งจีน-ยุโรป

การค้าระหว่างจีนกับประเทศลุ่มน้ำแม่โขงในปี 2024 มีมูลค่ารวม 4.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14.86 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 125 เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง โดยมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมและการประสานงานด้านกฎระเบียบเป็นแรงผลักดันสำคัญ

นครคุนหมิงได้ริเริ่มระบบศุลกากรอัจฉริยะสำหรับรถไฟขนส่งสินค้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างเวียงจันทน์และคุนหมิงได้มากถึงร้อยละ 50 พร้อมกันนั้นยังมีบริการด้านการลงทุนที่ช่วยให้นักลงทุนต่างชาติขอใบอนุญาตทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เป็นการดึงดูดภาคธุรกิจจากต่างประเทศ

นวัตกรรมถือเป็นเสาหลักของการเติบโต โดยทั้ง 6 ประเทศได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ขณะที่เมื่อปลายปี 2023 ในงานมอเตอร์โชว์นานาชาติที่กรุงเทพฯ บริษัทรถยนต์จีนได้นำเสนอเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ โดยครองพื้นที่จัดแสดงถึงร้อยละ 40 ของงาน

บริษัทจีน อย่างบีวายดี (BYD) และจีเอซี (GAC) ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ขณะที่ศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเอไอ (AI) จีน-ลาว ในนครเวียงจันทน์ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับอาเซียน

การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของแต่ละประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการท่องเที่ยวข้ามแดนและเมืองพี่เมืองน้อง โดยรถไฟสตาร์เอ็กซ์เพรส (StarExpress) ล้านช้าง-แม่โขง ได้เริ่มให้บริการในปี 2024 เชื่อมคุนหมิงกับเวียงจันทน์ผ่านหลวงพระบาง

ความร่วมมือระหว่างนครกว่างโจวและเชียงใหม่เป็นภาพสะท้อนของสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้นขึ้น โดยปัจจุบันมีเมืองพี่น้องระหว่างจีนกับประเทศลุ่มน้ำแม่โขงมากกว่า 160 คู่เมือง สะท้อนวิสัยทัศน์ของกลไกล้านช้าง-แม่โขงที่เริ่มเป็นรูปธรรม ผ่านความเข้าใจร่วมกันและความมั่งคั่งที่แบ่งปันได้อย่างแท้จริง

ที่มา : https://www.xinhuathai.com/silkroad/506298_20250401 , https://en.imsilkroad.com/p/344986.html 

ภาพประกอบข่าว
(แฟ้มภาพซินหัว : รถไฟสินค้านานาชาติบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ที่สถานีหวังเจียอิ๋งตะวันตกในนครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 2 ม.ค. 2025)