In Thailand

สว.สงขลาหวั่นบ.ไซน่าฯทิ้งงานในภาคใต้ หลังพบหลายโครงการล่าช้าจี้ตรวจสอบ



สงขลา-สว.สงขลา ห่วง  ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์วัน 10ฯ บริษัทจีน ซึ่งเป็นผู้ ก่อสร้าง โครงการต่างๆในภาคใต้ ทิ้งงาน เพราะตรวจสอบพบว่า ทุกโครงการล่าช้า และขอให้ ตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมด เพราะผู้รับเหมาช่วงที่ได้งานในราคาถูกอาจจะใช้ วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา จ.สงขลา ซึ่งได้ลงพื้นที่ ติดตามโครงการต่างๆใน จ.สงขลา และใกล้เคียงในภาคใต้ ซึ่งผู้ที่ประมูลงานได้คือ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์วัน  ( ประเทศไทย ) จำกัด ในนาม กิจการร่วมค้า มีบริษัทของคนไทยหลายๆ บริษัทเป็นผู้ ร่วมโครงการ เช่น โครงการที่พักข้าราชการศาลอุธรณ์ภาค 9 วงเงิน 386 ล้านบาท  โครงการอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงขลา วงเงิน 424 ล้านบาท โครงการอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานจังหวัดนราธิวาส วงเงิน 343 ล้านบาท โครงการหอพักมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต  วงเงิน 129 ล้านบาท โครงการอาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภูเก็ต  210 ล้านบาท โครงการเคหะชุมชน และบริการชุมชนภูเก็ต 343 ล้านบาท

ซึ่ง จากการขอทราบข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง และผู้รับเหมาช่วง พบว่าเกือบทุกโครงการมีปัญหาของความล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญาในการก่อสร้าง เช่น โครงการที่พักผู้โดยสานท่าอากาศยานจังหวัดนราธิวาส  ล่าช้ากว่าแผนงาน 60.76 %  อาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงขลา ล่าช้ากว่า 40 % ซึ่งในวงการก่อสร้าง ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงว่าจะมีการทิ้งงาน เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่มีความล่าช้าทุกโครงการ  โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดเรื่อง ตึกที่ทำการของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่มจากการเกิดแผ่นดินไหว เชื่อว่ายิ่งจะเป็นปัญหาที่ทำให้โครงการก่อสร้างทั้งหมดล่าช้ายิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ที่เจ้าของหน่วยงานต้องเร่งเรียกผู้รับเหมามาเพื่อขอทราบว่า บริษัทร่วมค้า และบริษัทไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์วัน 10 ที่เป็นของคนจีน จะแก้ปัญหาอย่างไร

ที่ สำคัญ หลังการถล่มของ ตึกที่ทำการ สตง. ได้สร้างความหวั่นไหว ความไม่ไว้วางใจจากประชาชน ว่าโครงการต่างๆที่ ก่อสร้างโดย บริษัทไชน่า เรลเวย์ ฯ จะมีคุณภาพหรือไม่  ดังนั้นนอกจากจะเรียกบริษัทที่เป็นผู้รับเหมามาเพื่อชี้แจงเรื่องความล่าช้า ที่อาจจะมีการทิ้งงานแล้ว ทุกโครงการต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของ วัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการก่อสร้างของทุกโครงการ เพราะจากการลงพื้นที่ได้ทราบจากผู้รับเหมาช่วงทราบว่าโครงการต่างๆที่บริษัทชนะการประมูลมีราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง การก่อสร้างจึงอาจจะมีการใช้ วัสดุ อุปกรณ์ ที่ไม่มีคุณภาพเพื่อเป็นการลดต้นทุน

ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการก่อสร้าง เปิดเผยว่า ในการชนะการประกวดราคาโครงการของรัฐของบริษัทต่างๆ คือการประมูลที่ต่ำกว่า รวมทั้งการ”จ่ายใต้โต๊ะ” และการ”ล็อบบี้” จาก นักการเมือง และผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพล หลังได้งานบริษัทที่ประมูลได้ยังมีการขายงานให้กับ ผู้รับเหมา ในพื้นที่ในราคาต่ำ จนมีการขาดทุนและทิ้งงาน หรือการใช้ วัสดุ อุปกรณ์ ที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งการ ควบคุมการก่อสร้างที่ผู้ควบคุม รู้เห็นเป็นใจ กับผู้รับเหมา หลายโครงการ หลังการตรวจรับ จึงเกิดปัญหาต่างๆมากมาย

ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา