In News

นายกฯยันรับมือภาษีสหรัฐฯต้องมีฟอร์ม 'รอบคอบ-รวดเร็ว-แม่นยำชี้ไม่จบทีเดียว



กรุงเทพฯ-นายกฯยืนยันมาตรการรับมือภาษีสหรัฐฯ “ก้าวต่อไป” ต้องอย่างรอบคอบ “เร็วและแม่นยำ” ยึดประโยชน์สูงสุดของคนไทย เผยการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศต้องอาศัยการเจรจาหลายระดับ หลายเวที และใช้เวลาในการประสานประโยชน์ร่วมกัน ไม่จบภายในครั้งเดียว ด้านรองนายกฯ พิชัย แถลงแนวทางรับมือนโยบายภาษีสหรัฐฯ ชี้เป็นวิกฤติที่แฝงโอกาสของไทยเน้นย้ำรัฐบาลเตรียมพร้อมหาแนวทางแก้ปัญหาแบบ Win-Win

วันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 13.30. น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย และนางสาว ธีราภา ไพโรหกุล  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังมีคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นางสาวใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ และนายโอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการ “Reciprocal Tariff” และ “Liberation Day” อย่างเป็นทางการ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นการ “กำหนดกติกาการค้าโลกในรูปแบบใหม่” ที่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงต่อประเทศไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ
 
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว และติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ 6 มกราคม 2568 ได้จัดตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา” โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นที่ปรึกษา อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษา วิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนกำหนดแนวทางรับมือทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเช้านี้ ได้มีการมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะไปพูดคุยกับหลายภาคส่วนของอเมริกา  โดยจะได้มีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐ เพื่อนำเอาข้อเสนอของไทย ไปเจรจาต่อรอง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมวันนี้ เป็นการติดตามสถานการณ์เพื่อกำหนด “ก้าวต่อไป” อย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนหลักการ “รู้เขา” และ “รู้เรา” ซึ่งในวันนี้ ที่ประชุมไม่เพียงแต่ได้รับทราบรูปแบบการตอบโต้และแนวทางรับมือของประเทศต่าง ๆ ต่อมาตรการของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังได้เห็นถึงปฏิกิริยาและการเคลื่อนไหวภายในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบด้วย
 
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาลต้องอาศัยความ “เร็ว” ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งเสียอีก พร้อมประสานงานกับสหรัฐฯ มาตลอด ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับการยืนยันจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สำหรับการหารือเจรจาแล้ว นอกจากนี้ จะต้อง “แม่นยำ” เพื่อให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน ติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจา
 
นอกจากการตอบสนองเชิงนโยบายระยะสั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าและบริการของไทย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม พร้อมทั้งเตรียมมาตรการเยียวยาในระดับภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ของสหรัฐฯ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า การเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศไม่ใช่กระบวนการที่จบภายในครั้งเดียว แต่ต้องอาศัยการเจรจาหลายระดับ หลายเวที และต้องใช้เวลาในการประสานประโยชน์ร่วมกัน พร้อมขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรวบรวมข้อมูล รายงานสถานการณ์ล่าสุด และเสนอแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท เพื่อไม่ให้ไทยต้องเสียเปรียบบนเวทีเศรษฐกิจโลก

รองนายกฯ พิชัย แถลงแนวทางรับมือนโยบายภาษีสหรัฐฯ 

เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำถึงการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้านของรัฐบาลไทย พร้อมเปิดเผยว่า แม้การดำเนินมาตรการภาษีของสหรัฐจะดูเป็นแรงกดดันที่เข้มข้น แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อแรกที่ไทยจะดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ win-win เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือเครื่องในสัตว์ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารสำเร็จรูป การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าก็ยังสามารถลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้การค้าของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรองรับการส่งออกในรูปแบบที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

แนวทางที่สอง คือ การทบทวนภาษีนำเข้าของสินค้าที่ปัจจุบัน โดยรัฐบาลพิจารณาว่าหากมีการผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการและบริหารโควต้าให้เหมาะสม จะสามารถเปิดตลาดอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่กระทบกับภาคการผลิตในประเทศมากนัก ซึ่งการบริหารความยืดหยุ่นในส่วนนี้จะเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในแง่ของความตั้งใจในการลดอุปสรรคทางการค้าและยกระดับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล

แนวทางที่สาม คือ การปรับปรุงกลไกภายในประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎระเบียบและขั้นตอนนำเข้าสินค้า โดยมุ่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่อาจเป็นต้นเหตุให้สหรัฐฯ มองว่าประเทศไทยมีพฤติกรรมกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้ไทยดูดีในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบภายในประเทศ ลดภาระของผู้ประกอบการ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม

แนวทางที่สี่ คือ หาทางรับมือกับประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำผิดปกติจากประเทศที่สาม ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นทางผ่านหรือแหล่งเลี่ยงภาษี เพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยจะใช้มาตรการคัดกรองสินค้านำเข้าอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด และดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของการกล่าวหาว่าช่วยหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของประเทศที่สาม ทั้งยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล

แนวทางที่ห้า คือการพิจารณาปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีที่ไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากร เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นโอกาสในการให้บริษัทไทยเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น แล้วส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ถือเป็นการสร้างเครือข่ายมูลค่าเพิ่มและลดแรงเสียดทานทางการค้าในระยะยาว

รองนายกรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำว่า การรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ไม่อาจอาศัยเพียงมาตรการฉุกเฉิน แต่ต้องใช้กระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์และการเจรจาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายในลักษณะ win-win solution เพื่อให้เกิดผลดีทั้งต่อไทยและสหรัฐฯ โดยเน้นการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่กับการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศอย่างมั่นคง พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำรายละเอียด เพื่อเตรียมเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR อย่างรอบด้านและทันสถานการณ์ต่อไป