In News
'มูดี้ส์'คงอันดับน่าเชื่อถือของไทยที่Bbb1 เชื่อศก.ไทยโตได้2%/ส่วนศก.โลก2.8%

กรุงเทพฯ-Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ Negative Outlook ขณะที่"จิรายุ" ชี้ "มูดี้ส์" ด่วนใจเร็วไปนิดเหตุ ผลการเจรจาสหรัฐยังไม่จบ แต่กลับปรับเร็วเกินไป มั่นใจการเจรจาจะเป็นผลดีต่อประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตแม้จะปรับลดหนึ่งสเตปจากปัญหาภาษีสหรัฐฯ แต่ ”มูดี้ส์“ยังเชื่อมั่นว่าไทยยังมี “จีดีพี”เติบโตไม่น้อยกว่า 2% ขณะที่รัฐบาลกดคันเร่งเครื่องยนต์ 4 ตัว เดินหน้ากระตุ้น ศก.ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก วอนฝ่ายค้าน ”ธีรชัย พปชร.“เบาได้เบา”
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 Moody’s ได้รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยได้คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ Negative Outlook ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก (External Risks) โดยเฉพาะความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก (Global) และภูมิภาค (Regional) รวมถึงส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลไทย แม้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและความรุนแรงได้อย่างชัดเจน แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่มีการปรับลดอัตราการเจริญเติบโตในปี 2568 จาก 3.3% เป็น 2.8% (ที่มา: กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ เดือนเมษายน 2568) ทำให้ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับ Negative Outlook จากปัจจัยดังกล่าว แต่ยังมีประเทศอื่นที่ถูกปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศ (Outlook) เช่นกัน สำหรับประเทศอื่นที่ถูกปรับลดมุมมองไปก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2566 – 2567 เป็นผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งด้านการค้า สะท้อนถึงแนวโน้มความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ Moody’s มีความเห็นเกี่ยวกับฐานะการเงินต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจไทย ภาคการคลัง และความท้าทายเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ดังนี้
1) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance): ประเทศไทยยังคงมีฐานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่งและมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง (ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
2) เสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability): โครงสร้างสถาบันและธรรมาภิบาลของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ประเทศไทยมีประวัติความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถบริหารหนี้ให้อยู่ในระดับที่รับได้ แม้ว่าภาระหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศที่มีความพร้อม สามารถรองรับการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมีหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท และมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ค่อนข้างยาว ซึ่งถือเป็นโครงสร้างหนี้ที่เอื้อต่อการบริหารจัดการภาระหนี้
3) ภาวะเศรษฐกิจไทย (Economic Condition): การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยยังช้ากว่าประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (Peers) นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และเศรษฐกิจไทยยังคงมีความอ่อนไหวต่อการรองรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Economic Shock) อาทิ การจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในระดับสูง
4) ภาคการคลัง (Fiscal Position): แม้รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การประกาศใช้ภาษีศุลกากรและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และกระทบโดยตรงต่อประเทศเศรษฐกิจเปิดอย่างไทย สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้กระบวนการเข้าสู่ความสมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ของไทยล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรอบวินัยการคลังระยะปานกลาง (Medium Term Fiscal Framework: MTFF) ที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้า
5) ความท้าทายเชิงโครงสร้าง (Structural Challenges): ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของผลิตภาพการผลิต (Productivity Growth) ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
• แนวทางการรองรับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์: ประเทศไทยกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อรองรับต่อมาตรการดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว อาทิ การลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และการรองรับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาในการหาตลาดทดแทนซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยจะดำเนินการกำหนดมาตรฐานของสินค้าและควบคุมการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ตลอดจนเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
• ภาคการคลัง: เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) มีความล่าช้า อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ลดภาระทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว รวมถึงเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในการรองรับเหตุการณ์ผันผวนในอนาคตได้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมีสถาบันเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลที่มีความแข็งแกร่งในระดับปานกลางถึงสูง มีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างรอบคอบ มีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีวินัย ซึ่งสะท้อนจากหนี้สาธารณะเกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการที่มีตลาดทุนภายในประเทศที่สามารถรองรับความต้องการกู้เงินได้อย่างเพียงพอ
• ภาคการลงทุน: ประเทศไทยยังคงสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
• ภาคการท่องเที่ยว: จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 เหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบระยะสั้นต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
สบน. ในนามกระทรวงการคลังขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีแผนการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาครัฐ และแผนเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ระยะปานกลาง กำลังถูกเร่งดำเนินการ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานความแข็งแกร่งทั้งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ภาคการส่งออกที่หลากหลาย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับมุมมอง Outlook ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคหรือเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการรองรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้ สบน. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฐานะทางเครดิตของประเทศให้มีความมั่นคงในระยะยาวต่อไป
"มูดี้ส์"เชื่อศก.ไทยเติบโตได้ 2%ไม่ติดลบเหมือนหลายประเทศ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบริษัท เอกชนที่รับจัดอันดับต่างๆ อย่าง บริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ออกมาปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงไปหนึ่งระดับ แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาท แบบไม่มีหลักประกันของไทย อยู่ที่ระดับ Baa1 และคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้น สกุลเงินต่างประเทศของไทยอยู่ที่ระดับ P-2
โดย มูดี้ส์ ระบุว่าการปรับลดมาจากมาตรการ เรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์ของบริษัทเอกชนอย่างมูดีส์ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายในทุกประเทศทั่วโลก เพราะปัจจัยที่ปรับลด มูดี้ส์เองก็ระบุว่ามาจากกำแพงภาษีของสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยนี้จะทำให้บริษัทเอกชนที่จัดอันดับ จะปรับลดอีกหลายประเทศจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเดียวกัน
"ผมคิดว่าการปรับลดครั้งนี้เร็วเกินไป เพราะทั้งประเทศไทยและประเทศทั่วโลกก็อยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุย ยังไม่มีผลใดๆ ออกมาชัดเจน หากผลออกมาเป็นบวก มูดี้ส์ จะปรับอย่างไร"
ในปัจุบัน มีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แบบมูดี้ส์ ทั้งในระดับ โลกจำนวนมาก อาทิ Kroll Bond Rating Agency, CRISIL (Credit Rating Information Services of India Limited), Japan Credit Rating Agency (JCR) , S&P Global Ratings และ ภูมิภาคมากกว่าร้อยบริษัท และชุดข้อมูลที่ปรับลดเป็นเรื่องเดียวกันทั่วโลก ที่เกือบทุกประเทศได้รับผลระทบนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแล้วในทุกมิติในเรื่องกำแพงภาษี ขณะที่นโยบายการกระตุ้นเศษฐกิจในครึ่งปีหลังนี้จะเน้นเครื่องยนต์ใหญ่สำคัญ 4 เครื่อง ที่รัฐบาลจะออกมากระตุ้น อาทิ การบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ การค้าต่างประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุน ซึ่งรวมถึงการลงทุนภาคเอกชน(Private Investment) และการลงทุนภาครัฐ
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า รายงานของมูดี้ส์ ยังให้ความเชื่อมั่นด้วยการคงอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Baa1 ซึ่งสะท้อนถึงสถาบันการเงินและระบบธรรมาภิบาลของไทย ที่ยังมีความแข็งแกร่ง ความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี และสถานะด้านต่างประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงการมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศในระดับสูง
ทำให้เห็นว่าแม้ทั่วโลกจะโดนปัญหารุมเร้าจาก นโนบายภาษีสหรัฐ ฯ แต่เชื่อมั่นว่าในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อสถานการณ์คลี่คลายประเทศไทยจะมี GDP ที่ดีขึ้น แม้ว่าจากเดิมในปีที่ผ่านมา “มูดี้ส์ ”คาดการณ์ไว้ว่า ไทยจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.9 แต่เมื่อมีเหตุการณ์สหรัฐฯ ก็ปรับลดการคาดการณ์ไว้ที่ 2.0 ซึ่งประเทศไทยยังถือเป็นตัวเลขที่อยู่ในกราฟ GDP เติบโต ไม่ได้ติดลบเหมือนบางประเทศ ทำให้มั่นใจว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในครึ่งปีหลังนี้จะ ทำให้ GDP ของประเทศมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมากล่าวโทษที่ไทยถูกปรับลด เป็นเพราะนโยบายรัฐบาล ตนอยากเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้าน ”เบาได้เบา“วันนี้ เป็นเรื่องของโลกที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องช่วยกัน และข้อมูลก็ชัดเจนว่าเป็นเรื่องจากปัญหาภาษีสหรัฐ ถ้าลดการเมืองลงได้บ้างก็จะเป็นพระคุณยิ่ง เพราะอย่างน้อยท่านก็เคยเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยนายกยิ่งลักษณ์พรรคเพื่อไทยมาก่อน “นายจิรายุ กล่าว