In Thailand
วิทยาลัยชุมชนพังงา-วิสาหกิจบ้านท่าจูด ร่วมต่อยอดแปรรูปมังคุดสด'ไซรัปมังคุด'

พังงา-วิทยาลัยชุมชนพังงา ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าจูด เดินหน้าต่อยอดผลไม้พื้นถิ่น จากมังคุดสดสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูป “ไซรัปมังคุด” ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยว และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรกรหลักหมื่นบาทต่อเดือน
มังคุดเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญ และได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ แต่ในช่วงฤดูผลไม้ของแต่ละปี กลับต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรบางรายในพื้นที่จังหวัดพังงาถึงขั้นต้องปล่อยให้ร่วงหล่นทิ้งไป แต่ภายใต้ปัญหานี้กลับเกิดโอกาสใหม่ เมื่อกลุ่มชาวบ้านชุมชนบ้านท่าจูด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนพังงา นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาแปรรูป “มังคุดสด” ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ได้แก่ ไวน์ คุกกี้ เค้กโรล ไอติม มังคุดสามรส และไซรัปมังคุด เพื่อยืดอายุผลผลิต และยังเพิ่มมูลค่าสินค้า ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน
นางอ่อนพัน พัดตัน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าจูด กล่าวว่า อาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่คือเกตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม แต่ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศในแต่ละวัน จึงทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ประกอบกับในพื้นที่มีการปลูกมังคุดเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีราคาผลผลิตที่ตกต่ำ จึงได้พยายามหาวิธีในการแปรรูป เพื่อให้ผลผลิตสามารถเก็บได้นานขึ้น โดยแรกเริ่มได้ใช้แนวคิดง่าย ๆ คือทำของดีจากของที่มี ซึ่งเริ่มจากการใช้มังคุดที่คัดเกรดไม่ผ่านสำหรับขายสด มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ผลปรากฏว่า “ไซรัปมังคุด” ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความเข้มข้นที่ยังคงคุณค่าทางอาหารไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะสารแซนโทนที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
ด้านนางสาวพวงเพชร ฤทธิพรพันธุ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงามีผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละปีจำนวนมาก โดยเฉพาะมังคุดทิพย์พังงา สินค้า GI สำคัญของประเทศ จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าจูด ซึ่งเป็นชุมชนที่มีมังคุดแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริมในเรื่องของการแปรรูปมังคุด โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมและเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ไซรัปมังคุด ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยได้รับความสนใจจากทั้งตลาดสุขภาพและกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยรสชาติหวานอมเปรี้ยวจากธรรมชาติ ไม่มีสารกันบูด และบรรจุภัณฑ์สวยงาม ทั้งยังมีการวางแผนต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เครื่องดื่มสุขภาพ น้ำสมุนไพรผสมมังคุด หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ความงามจากเปลือกมังคุด ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ ทั้งเกษตรกร ชาวบ้าน และเยาวชนในชุมชน เกิดเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนในท้องถิ่นต่อไป