Biz news

เผยการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการADB ที่เมืองมิลานอิตาลีสรุป3เรื่องสำคัญ



กรุงเทพฯ-จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ครั้งที่ 58 ในฐานะผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทย และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 4 – 7 พ.ค.2568 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ครั้งที่ 58 ในฐานะผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทย และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2568 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี สรุปได้ ดังนี้

1. พิธีเปิดการประชุมฯ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 นาย Masato Kanda ประธาน ADB ซึ่งเข้ารับดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และรับมือกับความท้าท้ายด้านภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) ความมั่นคงด้านอาหาร (2) การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (3) การพัฒนาระบบพลังงานที่ยั่งยืน และ (4) การรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. การประชุม Business Session โดยประธาน ADB รายงานผลการดำเนินงานของ ADB ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการรับมือกับความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ว่าการ ADB ของประเทศสมาชิกได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวนโยบายการดำเนินงานของ ADB ภายใต้แนวคิด “Sharing Experience, Building Tomorrow” ในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในอนาคต

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความคิดเห็นว่า การรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคและการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและสังคมโลกในปัจจุบัน โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการวางรากฐานและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เช่น ระบบ QR Code PromptPay (พร้อมเพย์) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์และไร้รอยต่อ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศแต่ยังเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

3. การประชุมเต็มคณะของสภาผู้ว่าการ ADB (ADB Governors’ Plenary Session) ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “Regional Integration in Asia and the Pacific through Digital Transformation” เพื่อหารือถึงแนวทางการบูรณการในระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิกในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโลกให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

ทั้งนี้ ในห้วงการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ Mr. Hayashi Nobumitsu ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bankfor International Cooperation: JBIC) เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย รวมทั้งหารือถึงความร่วมมือระหว่าง JBIC และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการ JBIC ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อนโยบายของภาครัฐที่จะเอื้อต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต และได้หารือทิวภาคีกับ Mr. Osman Çelik รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐตุรกี เนื่องในโอกาสที่ตุรกีเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มออกเสียงที่ไทยร่วมเป็นสมาชิก โดยหารือถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการค้าการลงทุนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังสหภาพยุโรปเนื่องจากตุรกีมีที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งต่อไป มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 6 พฤษภาคม 2569ณ เมืองซามาร์คันด์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ซึ่งผู้ว่าการของไทยจะดำรงตำแหน่งรองประธาน (Vice-Chair)