In Bangkok

กทม.หนุนใช้AIเพิ่มศักยภาพครู-นักเรียน ลดภาระครูยกระดับคุณภาพการศึกษา



กรุงเทพฯ-นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ประกอบการเรียนการสอนของครูและนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า สนศ. ได้ประสานความร่วมมือกับ Google Education ประเทศไทย จัดอบรมครูเกี่ยวกับการนำ AI ไปใช้ในการสอน หลักสูตร Generative AI for Education & Gemini Academy เมื่อวันที่ 25 และ 27 มิ.ย. 68 ให้แก่ครู 58 คน ณ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เพื่อให้ครูใช้เทคโนโลยี AI ในการวางแผนการสอน ออกแบบกิจกรรมการสอนในชั่วโมงเรียน รวมทั้งการจัดทำแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับบทเรียนได้โดยง่ายแต่น่าสนใจ ซึ่งครูที่เข้ารับการอบรมมองเห็นว่า Gemini AI ช่วยออกแบบให้การจัดการเรียนการสอนมีความสนุกสนานและน่าสนใจขึ้น สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังสามารถใช้ออกแบบสื่อการเรียนรู้และใบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และข้อมูลที่นำมาประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนมีแหล่งที่มาน่าเชื่อถือ ช่วยลดภาระประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ เช่น การทำแผนการสอน แผนพัฒนาโรงเรียน รายงานโครงการ งานวิจัยต่าง ๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สนศ. มีแผนขยายผลการอบรมออกให้แก่ครูทั้ง 437 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2568 ซึ่งจะส่งเสริมให้ครูมีองค์ความรู้ด้าน AI สามารถให้นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียน โดยอาจต่อยอด หรือสอดแทรกในวิชาวิทยาการคำนวณตามหลักสูตรแกนกลาง ที่มีขอบเขตเนื้อหาสอนให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) สามารถคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) และมีพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and Information literacy) โดยสอนให้นักเรียนใช้ AI สืบค้นข้อมูลความรู้ นำไปสู่การช่วยเชื่อมโยงโจทย์ปัญหาต่าง ๆ และค้นหาวิธีแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอนและมีลำดับวิธีคิด และในภาคการศึกษาที่ 2/2568 หากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดหาชุดความรู้ด้าน AI เพื่อจัดทำเป็นคู่มือการใช้ AI ประกอบการสอน หรือเป็นเอกสารเพิ่มเติมประกอบการเรียนเรียบร้อยแล้ว สนศ. จะประสาน สสวท. เพื่อนำมาพิจารณาและประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด รวมทั้ง สนศ. ยังได้ร่วมหารือกับ Microsoft ประเทศไทย เพื่อให้เป็นภาคีสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่การพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดต่อไป

สำหรับนวัตกรรมห้องเรียนดิจิทัลในโรงเรียนสังกัด กทม. และการขยายผลโครงการไปในโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ทางการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ที่ผ่านมา กทม.ได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์ 1,124 เครื่อง และส่งมอบให้แก่โรงเรียนจำนวน 10 โรงเรียน เพื่อนำไปจัดเป็น Digital Classroom แล้ว (ตั้งแต่ปี 2566) โดยในปีการศึกษา 2567 ที่ผ่านมา ผลการเรียนของนักเรียนในห้องดิจิทัล เมื่อเปรียบเทียบกับห้องปกติมีค่าเฉลี่ยที่มากกว่าเพียงเล็กน้อย แต่ประโยชน์ที่ได้รับคือ การยกระดับห้องเรียนให้ทันสมัยและการเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนให้เข้าสู่การเรียนรูปแบบใหม่ จุดเริ่มของการเปลี่ยนระบบการศึกษา เปลี่ยนโลก เปลี่ยนอนาคต โดยในปี 2568 สนศ. มีงบประมาณจัดซื้อ 1,630 เครื่อง และเช่า 21,533 เครื่อง เพิ่มให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาทักษะดิจิทัลให้ข้าราชการครูโรงเรียนในสังกัดแล้ว 620 คน จาก 111 โรงเรียน ให้สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้และผลิตสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับผู้เรียนในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในปัจจุบัน สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีไปบูรณาการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนดิจิทัลระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะขยายผลการพัฒนาครูไปสู่ 437 โรงเรียน โดยมีครูที่เข้าร่วมโครงการ 1,400 คน จะเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ครูสามารถบูรณาการเทคโนโลยีจัดการเรียนรู้ได้อย่างเชี่ยวชาญและเหมาะสมกับผู้เรียน ทั้งนี้ Digital Classroom เป็นแนวคิดที่จะพัฒนาห้องเรียนในสังกัด กทม. จากรูปแบบเดิมที่ผู้เรียนเน้นการท่องจำ ทำตามในสิ่งที่ครูสอนเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ที่ผู้เรียนจะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม เพื่อลดภาระหน้าที่ครู จึงได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการเรียนรู้ในห้องเรียนดิจิทัล