In Bangkok
กทม.เฝ้าระวังโควิด19ในกลุ่มเด็กเล็กเน้น ย้ำมาตรการป้องกันช่วงเปิดเทอม

กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0–4 ปี ซึ่งพบว่า มีรายงานการป่วยจำนวนมาก โดย สนพ.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยตั้งแต่ เม.ย. - 8 พ.ค. 68 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดรวม 1,974 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยใน (IPD) 11 ราย และผู้ป่วยนอก (OPD) 1,963 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์) ซึ่ง สนพ. ได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัดทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ เตียงรักษา วัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมทั้งได้เตรียมวัคซีนสำหรับควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หัด ไข้เลือดออก และอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส สำหรับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว และส่งทีมแพทย์และสาธารณสุขลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อเน้นย้ำการป้องกันโรคเบื้องต้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง
ส่วนมาตรการเชิงรุกในการรับมือกับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 สนพ.ได้เตรียมแนวทางเฝ้าระวังในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัด กทม. โดยเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) เพื่อควบคุมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถขยายจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้หากมีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้และให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง บริการเชิงรุกและให้ความรู้แก่ประชาชนที่มารับบริการ รวมถึงชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคโควิด 19 อย่างถูกต้อง รวมทั้งรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากมีอาการเสี่ยง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ควรตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวกควรแยกตัว สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สนอ. ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 3 พ.ค. 68 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,967 ราย เป็นคนไทย 2,381 ราย และคนต่างชาติ 586 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 พ.ค. 68 มี 15,055 ราย คิดเป็น 275 คนต่อแสนประชากร เป็นคนไทย 11,700 ราย และคนต่างชาติ 3,355 ราย โดยพบผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 0.02 จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบ แบ่งเป็นจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR 7,806 ราย และการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK 7,249 ราย จำแนกตามประเภทการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยใน (IPD) 1,696 ราย และผู้ป่วยนอก (OPD) 13,359 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 31–40 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 21–30 ปี และกลุ่มอายุ 41–50 ปี ตามลำดับ โดย สนอ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตต่าง ๆ ดำเนินมาตรการคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน วิธีปฏิบัติเมื่อพบเด็กป่วย การจัดการภายในโรงเรียน รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อป่วย พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์โรคจากรายงานของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ทั้งนี้ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ได้จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีที่เกิดการระบาด รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์และร่วมกับสถานศึกษาให้ความรู้และสุขศึกษาแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากร เกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ ตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการหลัก DMHT ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และตรวจวัดอุณหภูมิ จัดให้มีจุดบริการล้างมืออย่างเพียงพอทั่วบริเวณโรงเรียน ทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสร่วม เช่น ราวบันได โต๊ะอาหาร ของเล่น ฯลฯ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีในห้องเรียน และหากพบเด็กป่วยสงสัยติดเชื้อให้ส่งเข้ารับการรักษาตามสิทธิ รวมทั้งหากพบเด็กป่วยเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังควบคุมการระบาดในวงกว้างต่อไป