In Global

‘เอไอ’มาแรงพลิกโฉมวงการท่องเที่ยวจีน หนุนการเติบโตแบบก้าวกระโดด



ปักกิ่ง, 21 พ.ค. (ซินหัว) – ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน โดยถูกนำมาใช้ในหลายด้าน ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางเฉพาะบุคคล ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถใช้แพลตฟอร์มอย่างดีปซีก (DeepSeek) เพื่อปรับแต่งแผนการท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการส่วนตัว ใช้คิวอาร์ โค้ด (QR codes) เพื่อเข้าถึงไกด์นำเที่ยวเสมือนแบบตัวต่อตัว หรือแม้แต่ “เต้นรำ” กับวาฬที่สร้างขึ้นด้วยเอไอ ภายในพิพิธภัณฑ์

การวางแผนท่องเที่ยวด้วยเอไอ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว บนแพลตฟอร์มโซเชียลอย่างเสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) ผู้ใช้จำนวนมากได้แชร์ประสบการณ์การใช้เครื่องมือวางแผนท่องเที่ยวด้วยเอไอ หนึ่งในนั้นคือหลิว ซึ่งใช้เอไอในการจัดทริปเที่ยวยูนนาน โดยให้เอไอช่วยเปรียบเทียบตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก และจัดลำดับแผนการเดินทาง ทำให้เธอประหยัดเวลาและลดความเครียดได้อย่างมาก

เมื่อเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนนี้ บริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งจึงเริ่มเปิดตัวบริการเอไอของตนเอง เช่น “เสี่ยวหนิว” ผู้ช่วยเอไอจากบริษัทถูหนิว (Tuniu) แพลตฟอร์มท่องเที่ยวของจีน ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบราคา และจองบริการได้ภายในไม่กี่วินาที ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มฟลิกกี (Fliggy) ของอาลีบาบา ก็เปิดตัว “เวิ่นอี๋เวิ่น” (wenyiwen) ผู้ช่วยการเดินทางแบบมัลติฟังก์ชันที่รองรับทั้งการพิมพ์ เสียง และภาษาท้องถิ่น

เอไอช่วยลดความซับซ้อนในการวางแผนการท่องเที่ยว ด้วยความสามารถในการเชื่อมโยงบริการต่างๆ เช่น การจองเที่ยวบิน โรงแรม เสนอแนะสถานที่ท่องเที่ยว และจัดการงบประมาณ เอไอช่วยลดภาระในการตัดสินใจของนักเดินทาง และทำให้การเดินทางแบบเฉพาะบุคคลเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับคนทั่วไป

นอกจากการวางแผนแล้ว เอไอยังพลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นไกด์เสมือนจริง เส้นทางนำทางแบบเทคโนโลยีเออาร์ (Augmented reality - AR) หรือกิจกรรมภายในสถานที่ท่องเที่ยว จากรายงานของสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน (CAICT) พบว่า อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการประยุกต์ใช้เอไอ

แหล่งท่องเที่ยวทั่วจีนเริ่มใช้เอไอยกระดับบริการ สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในจีนได้เริ่มนำโมเดลของดีปซีก (DeepSeek) มาใช้ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวผ่านการโต้ตอบแบบอัจฉริยะและการให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันบริษัทด้านการท่องเที่ยวก็ใช้เอไอในด้านบริการลูกค้า การตลาด และการดำเนินงาน ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม

ล่าสุด เลอโนโว (Lenovo) บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติของจีน ได้จับมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปิดตัว “ตัวแทนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอัจฉริยะ” รายแรกของจีน โดยเชื่อมโยงบริการหลายด้านเข้าด้วยกัน ทั้งระบบขนส่ง ความปลอดภัย และการกำกับดูแล พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวอัจฉริยะผ่านโครงสร้างพื้นฐานแบบผสมผสานของเลอโนโว

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เอไอไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยีอีกต่อไป แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบนิเวศในภาคการท่องเที่ยว โดยสร้างบริการที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคลได้ลึกยิ่งขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบและให้บริการให้ตอบสนองดีมานด์ของนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ เพราะแม้เอไอจะมีศักยภาพสูง แต่อุปสรรคสำคัญยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไซโลข้อมูล (Data Silos) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ต้นทุนเทคโนโลยีที่ยังสูง และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ข้ามสาขา ส่งผลให้หลายโครงการเอไอ ยังอยู่ในขั้นสาธิตและยังไม่สามารถพัฒนาเป็นรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เชื่อมโยงการใช้งานเอไอกับสถานการณ์จริง สร้างระบบบริหารจัดการข้อมูลที่คำนึงถึงทั้งความเป็นส่วนตัวและมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อกระจายความเสี่ยงและต้นทุนในการพัฒนา 

สุดท้าย ความสำเร็จของเอไอ ในภาคการท่องเที่ยวจะขึ้นอยู่กับว่า เทคโนโลยีนี้สามารถสร้างประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์ และเข้าถึงอารมณ์ของผู้ใช้ได้มากเพียงใด เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง
  
(เรียบเรียงโดย Gu Shanshan, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/516022_20250521 , https://en.imsilkroad.com/p/345616.html)

ภาพประกอบข่าว
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพยอดเขาเหลียนฮวา ในพื้นที่ท่องเที่ยวหวงซาน มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2022)