In Global

บทวิเคราะห์จีนเป็นผู้พิทักษ์สันติภาพและ การพัฒนาของโลกมาโดยตลอด



โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความสับสนวุ่นวาย ภารกิจสันติภาพและการพัฒนาของมนุษยชาติต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จีนสะท้อนสู่ทั่วโลกผ่านการกระทำที่เป็นรูปธรรมว่าจีนมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่เสมอมาที่จะส่งเสริมการสร้างโลกที่มีสันติภาพอย่างยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

จีนยึดมั่นในแนวคิด “ความสามัคคีคือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด” มาตั้งแต่สมัยโบราณ และตั้งแต่เข้าสู่ยุคใกล้เป็นต้นมา จีนยิ่งได้สัมผัสอย่างลึกซึ้งถึงความทุกข์ทรมานอันเกิดจากสงครามและความวุ่นวาย ดังนั้น หลังการสถาปนาจีนใหม่ รัฐบาลจีนจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและสันติมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนย้ำหลายครั้งว่าจีนยืนหยัดเดินบนหนทางการพัฒนาอย่างสันติ ไม่ว่าจะพัฒนาก้าวหน้ามากเพียงใด ก็จะไม่แสวงหาการเป็นเจ้าโลก ไม่ขยายอาณาเขต ขอบเขตอิทธิพล และไม่แข่งขันสะสมอาวุธ

ในบรรดาสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น จีนเป็นประเทศที่ส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจำนวนมากที่สุด ได้มีส่วนร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติมากกว่า 30 ครั้ง และส่งเจ้าหน้าที่และทหารมากกว่า 50,000 นาย กองทัพจีนได้ปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งต่างๆ เช่น แอฟริกาและตะวันออกกลาง ได้สร้างคุณูปการสำคัญในการรักษาสันติภาพโลก

ในเวลาเดียวกัน จีนยืนหยัดแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาที่มีความอ่อนไหวอย่างสันติ เช่น ปัญหานิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลี ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน เป็นต้น ในประเด็นทะเลจีนใต้ จีนส่งเสริมแนวคิด “ระงับข้อพิพาท ร่วมกันพัฒนา” และร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการดำเนินการตาม “ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ส่งเสริมการบริหารจัดการความมั่นคงทั่วโลก ได้อัดฉีดพลังบวกเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของทั่วโลก

ปัจจุบัน ลัทธิผูกขาดและการคุ้มครองทางการค้า กำลังรุดหน้า ความท้าทายและความไม่แน่นอนที่ทั่วโลกต้องเผชิญก็เพิ่มมากขึ้น จีนยืนหยัดในการปกป้องระบบระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลางและระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งเสริมลัทธิพหุภาคีที่แท้จริงอย่างเต็มที่และพยายามมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เป็นประเด็นร้อนทั้งในระดัภูมิภาคและระดับโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือภายใต้การไกล่เกลี่ยของจีน ประเทศซาอุดีอาระเบียและอิหร่านได้ประกาศในเดือนมีนาคม ปี 2023 ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่หยุดชะงักมาเป็นเวลา 7 ปี

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์โลกที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน จีนสนับสนุนการรักษาความมั่นคงร่วมกันอย่างแข็งขัน ได้เสนอข้อริเริ่มว่าด้วยความมั่นคงทั่วโลกต่อนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันเดินบนหนทางความมั่นคงใหม่ที่ใช้การเจรจาแทนการเผชิญหน้า เป็นหุ้นส่วนไม่ใช่พันธมิตร และมุ่งให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไม่ใช่เล่นเกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์

จีนไม่เพียงแต่เป็นผู้พิทักษ์สันติภาพ แต่ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาอีกด้วย ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปและการเปิดประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนได้ประสบผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่าร้อยละ 30 เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ประสบการณ์ด้านการพัฒนาของจีนถือเป็นตัวอย่างที่ควรค่าแก่การเรียนรู้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ

จีนถือว่าการพัฒนาเป็นเสาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมอนาคตที่ดีกว่าของมนุษยชาติเสมอมา เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์นี้ จึงได้เสนอข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”และข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาของทั่วโลก เพื่อสร้างสะพานความร่วมมืออย่างกว้างขวางในการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศ ปัจจุบัน จีนให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศต่างๆ มากกว่า 160 ประเทศ และได้ลงนามเอกสารความร่วมมือเพื่อร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับกว่า 150 ประเทศและกว่า 30 องค์กรระหว่างประเทศ จีนถือการสนับสนุนการพัฒนาและการฟื้นฟูกลุ่มประเทศโลกใต้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของความร่วมมือตามข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาทั่วโลก และได้จัดตั้งกองทุนการพัฒนาระดับโลกและกองทุนความร่วมมือใต้-ใต้เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในความพยายามสร้างความทันสมัยของพวกเขา

การปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลโลกในปัจจุบันล่าช้าอย่างเห็นได้ชัด ความเป็นตัวแทนและสิทธิการออกเสียงของกลุ่มประเทศโลกใต้ยังไม่ได้รับการสะท้อนอย่างเต็มที่ ในการปฏิรูประบบกำกับดูแลโลก จีนเสนอให้เพิ่มความเป็นตัวแทนและเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในกิจการระหว่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาระเบียบระหว่างประเทศในทิศทางที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น แนวคิด “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” ที่จีนเสนอขึ้นนั้นเน้นย้ำว่าทุกประเทศควรทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายและบรรลุการพัฒนาร่วมกัน แนวคิดนี้ได้รับการบรรจุไว้ในมติของสหประชาชาติและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ

ในอนาคต จีนจะแสดงให้เห็นด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรมต่อไปว่า จีนที่กำลังเติบโตและพัฒนาไม่เพียงแต่เป็นเสาหลักที่มั่นคงสำหรับสันติภาพโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังสำหรับการพัฒนาของโลกอีกด้วย

เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)