In Global
จีนพลิกโฉมการท่องเที่ยวยุคใหม่ด้วย เทคโนโลยี AI

เทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน จุดเปลี่ยนสำคัญนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของจีนเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของจีนเข้าใจดีว่า “การท่องเที่ยวยุคใหม่” ต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถช่วยตอบโจทย์นักท่องเที่ยวแต่ละคนได้อย่างดีเยี่ยม
นักท่องเที่ยวจีนยุค AI เริ่มหันมาใช้แพลตฟอร์ม AI อย่าง DeepSeek Kimi และ Doubao ช่วยวางแผนการ ทริปท่องเที่ยวแบบเฉพาะตัว เพียงแค่ระบุรายละเอียดที่ต้องการ อย่างงบประมาณที่ต้องการใช้ในการท่องเที่ยว ระยะเวลา กิจกรรมที่สนใจ เช่น สำรวจธรรมชาติ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือตามรอยร้านอาหารดัง ระบบ AI จะสร้างสรรค์แผนการท่องเที่ยวให้ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที แพลตฟอร์ม AI นี้ไม่เพียงช่วยให้นักท่องเที่ยวประหยัดเวลา แต่ยังลดความเครียดในการวางแผนการเดินทาง และยังช่วยให้นักท่องเที่ยวมือใหม่กล้าตัดสินใจออกเดินทางมากขึ้นด้วย
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Tuniu แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ของจีน เปิดตัว "Xiaoniu" ผู้ช่วยอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาตั๋วเครื่องบิน ที่พัก รูปแบบการเดินทาง และกิจกรรมต่างๆ พร้อมเปรียบเทียบราคา วิเคราะห์ความคุ้มค่า และให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ "Xiaoniu" ยังสามารถเรียนรู้จากพฤติกรรมการใช้งานของนักท่องเที่ยวในแต่ละทริป เพื่อปรับคำแนะนำในครั้งถัดไป ทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวของแต่ละคนไม่เพียงสะดวกขึ้น แต่ตรงใจขึ้นทุกครั้งที่ใช้งาน
ขณะที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ผู้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ยังนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสร้างประสบการณ์ “เสมือนจริง” ให้กับนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การเยี่ยมชมถ้ำโมเกา (Mogao Grottoes) ในตุนหว งมณฑลกานซู่ ผ่านแว่น VR หรือการใช้งานผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง “Tang Xiaobao” ที่ศูนย์การค้า Grand Tang Mall ในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ที่สามารถโต้ตอบ ช่วยแนะนำร้านค้า เส้นทาง และกิจกรรมภายในศูนย์การค้าได้เสมือนเจ้าหน้าที่จริง
หลายเมืองของจีนยังบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งใช้ Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยว เช่น ช่วงเวลาที่คนหนาแน่น จุดที่นักท่องเที่ยวชอบถ่ายรูป หรือเส้นทางที่นักท่องเที่ยวชอบเดิน เพื่อวางแผนกระจายนักท่องเที่ยว ลดความแออัด และรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมือง เช่น เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง และเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ที่ติดตั้งระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ประเมินความหนาแน่นของผู้คน เพื่อให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจไปยังจุดที่ยังไม่แออัด
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้ภาคเอกชน และภาคการศึกษาพัฒนาแอปพลิเคชันและนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านโครงการจัดการแข่งขัน เช่น โครงการ “Global Youth Tourism Startup” ที่เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้โชว์นำเสนอรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี AI เช่น แอปพลิเคชันแปลภาษาอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ หรือแพลตฟอร์ม VR ที่พาเที่ยวเมืองโบราณแบบอินเทอร์แอคทีฟ
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนด้วยเทคโนโลยี AI จึงทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ที่มีคุณค่า และช่วยพลิกโฉมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนเติบโตอย่างยั่งยืน
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN