Digitel Tech & AI

เอ็นไอเอชวนรู้จักแพลตฟอร์มช่วยติดตาม Policy Watchและโอเพ่นดาต้า



กรุงเทพฯ-ทุกการเลือกตั้งมักจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางอนาคต โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารและปกครองประเทศ พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันมักออกนโยบายที่มีเป้าหมายต่างกันไปด้วย ทั้งนี้ นโยบายไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือเรื่องของทุกคนในฐานะ “พลเมือง” และการที่ประเทศชาติจะพัฒนาได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการคิด การวางแผน และออกแบบนโยบาย โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้สิ่งที่ถูกสร้างออกมาตอบโจทย์และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากที่สุด หากภาครัฐสามารถนำหลักการนี้มาใช้ ประเทศจะพัฒนาไปในทิศทางที่ทุกคนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

หลายนโยบายที่ถูกนำมาเสนอกับประชาชนนั้น ล้วนมีความคาดหวังเป็นที่ตั้ง และคงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถตรวจสอบกลับนโยบายต่าง ๆ ที่คาดหวังเหล่านั้นได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว แต่สามารถทำได้จริงแล้วในประเทศไทย ซึ่งวันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมรังสรรค์และดำเนินงานตามนโยบายจะพาไปรู้จักเครื่องมือตรวจสอบที่เรียกว่า Policy Watch รวมถึงได้รู้ประโยชน์จากนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของทุกคน

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การออกนโยบายสาธารณะที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการจัดตั้งนโยบายที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและสะท้อนความต้องการในการเปลี่ยนแปลงสังคมของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น การนำนวัตกรรมมาใช้จึงเป็นส่วนช่วยให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ และเพิ่มการมีส่วนรวมจากภาคประชาชนได้ ซึ่ง NIA ได้เชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน ประชาสังคม ฝ่ายความมั่นคง และการเมือง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างกระบวนการทางนโยบาย (Policy Process) โดยทุกฝ่ายจะเปิดกว้างรับฟัง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและทัศนคติ เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานการคิดนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ซึ่งไม่ใช่นโยบายที่เกี่ยวกับนวัตกรรม แต่คือการนำนวัตกรรมมาใช้ตลอดกระบวนการคิด วางแผน และออกแบบนโยบาย รวมถึงต้องมีการนําระบบจัดการเชิงนโยบายเข้ามาเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้เกิดการขยายผลอย่างกว้างขวาง เป็นระบบ และนําไปสู่การปรับใช้ได้จริง

“NIA มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ทั้งนี้ NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ เพราะการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายต้องอาศัยแนวทางการคาดการณ์และการมองอนาคตร่วมกับหลักการออกแบบนโยบาย ที่ต้องเข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเพื่อใช้สร้างแนวปฏิบัติของความร่วมมือรูปแบบใหม่และสร้างผลลัพธ์ใหม่ที่ส่งผลให้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่ออกแบบคิดค้นขึ้นสามารถนําไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน โดยได้จัด “หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน หรือ Public and Private Chief Innovation Leadership (PPCIL)” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ครอบคลุม 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ความมั่นคง การเมือง และสื่อมวลชน ซึ่งขณะนี้รุ่นที่ 7 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วรวมทั้งสิ้น 449 ราย เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่า 30 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนและผลักดันนวัตกรรมเชิงนโยบายให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้นำเอาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ทั้งในระดับองค์กรและประเทศ NIA Academy จึงได้จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบาย Policy Innovation Recognition ขึ้นเป็นครั้งแรกให้กับศิษย์เก่าหลักสูตร PPCIL รุ่น 1-6 โดยมีผู้ที่สนใจส่งร่วมประกวดชิงรางวัลกว่า 40 นวัตกรรมเชิงนโยบาย และได้รับการคัดเลือกเหลือเพียง 17 นวัตกรรม แบ่งเป็น ระดับองค์กร จำนวน 4 รางวัล และระดับประเทศ 13 รางวัล โดย Policy Watch” จับตาอนาคตประเทศไทยของ Thai PBS เป็นหนึ่งใน 13 นวัตกรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลการขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบายระดับประเทศ เนื่องจากมีการแปลงแผนนวัตกรรมเชิงนโยบายสาธารณะสู่การปฏิบัติ ผ่านกลไกการสนับสนุนเชิงพื้นที่ ควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนงานนวัตกรรมเพื่อสังคม และสามารถหาทางออกร่วมกันในการพัฒนาประเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส และหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร PPCIL รุ่นที่ 4 เล่าว่า ที่ผ่านมาเรื่องนโยบายสาธารณะมักจะเป็นการสื่อสารทางเดียวในลักษณะแจ้งเพื่อให้ทราบว่ารัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายอะไร และใช้ภาษานโยบายซึ่งเข้าใจยากสำหรับประชาชน ทำให้ข้อมูลนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่อยู่ในวงจำกัดแค่คนทำนโยบายหรือนักวิชาการ ขาดการเชื่อมต่อกับประชาชน และขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างคนทำนโยบายกับประชาชน ซึ่งการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสองฝั่ง พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศตรงตามความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนแค่ไหน รวมถึงเรื่องการใช้งบประมาณ การบริหารนโยบาย ไปจนถึงหลังจากที่ดำเนินนโยบายไปแล้วผลที่ได้รับเป็นอย่างไร สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะรู้เท่าทันนโยบายได้อย่างไร ?

“ข้อสงสัยนี้เป็นสิ่งสนับสนุนให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลกับประชาชนจัดทำ “แพลตฟอร์ม Policy Watch” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือติดตามนโยบายสาธารณะ ไปจนถึงการจัด Policy Forum เวทีที่หยิบยกประเด็นสำคัญมาถกเพื่อรวบรวมความเห็นจากภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบนโยบายนั้น Policy Watch เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชน กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านบทวิเคราะห์ บทสรุป ติดตามความคืบหน้าของนโยบายสาธารณะ และแปลงข้อมูลเพื่อนำเสนอให้ประชาชนรู้เท่าทันการกำหนดนโยบาย รวมถึงยังเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลและตัดสินใจ รวมถึงสามารถติดตามนโยบายสาธารณะ ทั้งด้านรัฐธรรมนูญ กฎหมาย สังคม คุณภาพชีวิต การบริหารงานภาครัฐ การเกษตร การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนว่าอยู่ในขั้นตอนใด โดยการติดตามจะแบ่งออกเป็น 5 สถานะ ได้แก่ 1. เริ่มนโยบาย การคัดเลือกประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องพัฒนา 2. วางแผน คิดค้นแนวทางที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหา 3. ตัดสินใจ กระบวนการพิจารณาและตัดสินใจ 4. ดำเนินงาน นำผลการพิจารณาจัดทำเป็นนโยบาย และ 5. ประเมินผล จากนโยบายหรือกฎหมายที่ถูกประกาศใช้ โดยแพลตฟอร์ม Policy Watch จะแสดงรายละเอียดของนโยบายและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและติดตามได้อย่างสะดวกและทันต่อเหตุการณ์”

นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม Policy Watch ยังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับทุกนโยบายไว้อย่างครอบคลุม ซึ่งจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่อยู่ในแพลตฟอร์ม Policy Watch พร้อมเก็บสถิติจากผู้เข้าชมเพื่อวัดความสนใจของประชาชนที่มีต่อในนโยบายในแต่ละช่วงเวลา พบว่านโยบายที่มีประชาชนสนใจมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) และเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ (Zero Dropout) การสื่อสารนโยบายสาธารณะในรูปแบบดังกล่าว นับเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศของกระบวนการนโยบายสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น