In Bangkok
เขตธนบุรีสั่งพลิกที่ว่างปั้นสวนใต้สะพาน จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างควินทาราฯ

กรุงเทพฯ-'จักกพันธุ์'ลุยเขตธนบุรี สั่งพลิกที่ว่างปั้นสวนใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร เฟส 3 จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างควินทารา มาย’เดน โพธิ์นิมิตร ส่องระบบเครื่องย่อยสลายขยะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตรึงแนวแผงค้าหน้าตลาดดาวคะนอง ชมคัดแยกขยะคอนโดอัลติจูด ยูนิคอร์น สาทร-ท่าพระ
(23 พ.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย พัฒนาสวน 15 นาที สวนร่วมแรงร่วมใจ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ปรับระดับพื้นดิน พัฒนาเป็นสวน 15 นาที เทพื้นแอสฟัลต์ทางเดินวิ่งออกกำลังกายต่อเนื่องจากเฟส 2 ไปจนถึงสถานีโพธิ์นิมิตร ขุดลอกทำความสะอาดร่องน้ำเกาะกลางถนน ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนร่วมแรง พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ เฟส 1 พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 2.สวน 15 นาที ภายในสำนักงานเขตธนบุรี พื้นที่ 100 ตารางเมตร (วัดเวฬุชิณ) 3.สวนร่วมใจ พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ เฟส 2 ขนาดพื้นที่ 2,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยศูนย์ก่อสร้างฯ 5 ปรับระดับพื้นดิน ปูกระเบื้องใต้สะพานและรอบทางระบายน้ำ ปูอิฐตัวหนอนจากวัสดุเหลือใช้จากการปรับปรุงทางเท้า เทพื้นแอสฟัลต์ทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 4.สวนลานเพลิน ข้างสถานีรถไฟวุฒากาศ พื้นที่ 2,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย 5.สวนหย่อม 12 สิงหา เฟส 2 พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท 6.สวนหน้าวัดบุปผาราม พื้นที่ 400 ตารางเมตร 7.สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสำนักเทศกิจ พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร 8.สวนร่วมแรงร่วมใจ พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ เฟส 3 พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ตลอดจนเพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการควินทารา มาย’เดน โพธิ์นิมิตร (QUINTARA MHy’DEN PHO NIMIT) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 40 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นการติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง จากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษหินดินทรายตกค้าง เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการให้เห็นเด่นชัด ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกและรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมการทำงานของเครื่องย่อยสลายขยะ บริเวณสวนการเรียนรู้พระราม 3 โดยเจ้าหน้าที่จะนำขยะเศษอาหาร เศษผัก เศษใบไม้แห้ง ที่ผ่านการคัดแยกแล้ว ใส่ในเครื่องย่อยสลายขยะ โดยใน 1 วัน จะใส่เศษอาหาร 50 กิโลกรัม เครื่องย่อยสลายขยะจะเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยในวันพุธและวันศุกร์เจ้าหน้าที่จะนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ออกมา 20 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้เป็นเชื้อสำหรับทำปุ๋ยในรอบถัดไป ซึ่งเครื่องย่อยสลายขยะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 10 กิโลกรัม/วัน สำหรับวัสดุที่สามารถใส่ในเครื่องย่อยสลายขยะได้ อาทิ ผัก ผลไม้ เมล็ดผลไม้ เปลือกผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา ก้างปลา กระดูกชิ้นเล็ก เปลือกไข่ ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เมล็ดกาแฟ กากกาแฟ ใบไม้ ดอกไม้ ไม้กลัด กิ่งไม้ขนาดเล็ก กระดาษชำระ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ส่วนวัสดุที่ไม่สามารถใส่ในเครื่องย่อยสลายขยะได้ อาทิ น้ำแกง น้ำซุป กระดูกชิ้นใหญ่ โลหะ พลาสติก ผ้า วัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการทำงานของเครื่องย่อยสลายขยะ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รายงานว่า หากใส่เศษอาหารหรือข้าวที่ปนเปื้อนไขมัน จะทำให้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีความชื้น มีลักษณะเปียกน้ำ มีคราบไขมัน จึงได้ทดลองใส่เศษผักและเศษใบไม้ผสมลงไปด้วย พบว่าปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จะแห้งเป็นผง ไม่เกิดความชื้น พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ในการใส่เศษอาหาร ให้ทดลองเพิ่มหรือลดตามอัตราส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตออกมาเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยให้นำไปทดลองใส่ในแปลงผักหรือใส่ต้นไม้ที่อยู่ภายในสวนการเรียนรู้พระราม 3
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณตลาดดาวคะนอง ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 98 ราย ได้แก่ 1.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งขาออก ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 66 ราย 2.ตลาดเดินเล่น ถนนรัชดาภิเษก (ตลาดไทยช่วยไทยพลาซ่า) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ฝั่งขาออก ผู้ค้า 14 ราย รวมผู้ค้า 74 ราย โดยมีผู้ค้า 59 ราย ได้รับเงินค่าทดแทนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2.บริเวณสี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 ปัจจุบันเขตธนบุรี ไม่มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันแล้ว ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ยกเลิกวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 และยุบรวมพื้นที่ทำการค้าหน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ยุบรวมเข้าไปอยู่ในจุดทำการค้าถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ คอนโดอัลติจูด ยูนิคอร์น สาทร-ท่าพระ พื้นที่ 2 ไร่ จำนวน 712 ยูนิต 34 ชั้น ผู้พักอาศัย 60% เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2568 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล แม่บ้านคัดแยกขยะรีไซเคิล ประสานเขตฯ ติดต่อให้ WASTE BUY Delivery มารับซื้อ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป รวมรวบไว้ที่ห้องพักขยะใต้อาคาร เขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 231 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 31.22 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ในการนี้มี ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล