In Bangkok

'ทวิดา'พร้อมมือแผ่นดินไหว-น้ำท่วม-ฝุ่น ด้วย IoTและAIเปิดแผนที่เสี่ยง10ภัย



กรุงเทพฯ-เมืองพร้อมรับภัย รองผู้ว่าฯ ทวิดา เผยแผนรับมือแผ่นดินไหว น้ำท่วม ฝุ่น PM2.5 ด้วย IoT และ AI พร้อมเปิดแผนที่ความเสี่ยง 10 ภัย BKK Risk Map ในงาน SITE 2025

(6 ก.ค. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ "Designing Sustainable Cities for Disaster" ภายในงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2025 (SITE 2025) ณ Main Stage พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน เขตปทุมวัน 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงการออกแบบเมืองที่ยั่งยืนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรุงเทพมหานครได้มีการติดตั้งระบบตรวจจับการสั่นไหว (Seis Monitor) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง เพื่อให้ทราบว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวตัวอาคารมีการสั่นหรือเคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งถ้าโรงพยาบาลมีเครื่องนี้ติดไว้โรงพยาบาลจะไม่ต้องดึงปลั๊กที่ต่อกับคนไข้ฉุกเฉินออก ไม่ต้องอพยพคนออก เพราะเมื่ออาคารหยุดสั่น รีพอร์ตที่ปริ้นออกมา วิศวกรสามารถเห็นได้ว่าอาคารเคลื่อนไหวแนวไหน รู้ว่าอาคารปลอดภัยหรือไม่ หรือต้องซ่อมตรงไหน รวมถึงมีการรับแจ้งปัญหาอาคารร้าวผ่านทาง Traffy Fondue ซึ่งมีการแจ้งเกี่ยวกับอาคารร้าวรวม 21,864 เรื่อง และเมื่อวาน (5 ก.ค. 68) เป็นวันที่ Traffy Fondue รับแจ้งปัญหาครบ 1 ล้านเรื่อง กทม. แก้ได้ประมาณ 801,000 เรื่อง ประชาชนพึงพอใจคิดเป็น 81% 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครมีแผนที่ความเสี่ยง BKK Risk Map ซึ่งมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของกรุงเทพมหานครไว้ 10 ภัย อาทิ อุทกภัย อัคคีภัย อาชญากรรม อุบัติเหตุทางถนน ฝุ่น PM2.5 อาคารสั่นไหวเนื่องมาจากแผ่นดินไหวหรือ Ageing structure วาตภัย ภัยแล้ง โรคและสารเคมี โรคในที่นี้หมายความว่า กรุงเทพมหานครมีแผนที่ไข้เลือดออก โควิด ไข้หวัดใหญ่ ฝีดาษลิง และยาเสพติด แต่ข้อมูลในส่วนของโรคจะใช้สำหรับการบริหารจัดการ ไม่ได้เปิดสาธารณะเพราะมีเรื่อง PDPA ส่วนด้านข้อมูลอื่น ๆ ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำความยาวรวมทั้งหมดกว่า 7,000 กิโลเมตร ได้มีการลอกท่อระบายน้ำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อช่วยให้น้ำสามารถไหลไปได้เร็ว ที่สำคัญทุกอย่างตอนนี้เป็น IoT ประตูน้ำของ กทม. ใช้รีโมตจากโทรศัพท์มือถือในการกำกับควบคุมและเป็นแบบเรียลไทม์ ระดับน้ำในถนนหลักที่มีท่อระบายน้ำมีเซ็นเซอร์อยู่ในนั้น กรุงเทพมหานครใช้ X-band และ C-band เรดาร์ในการตรวจจับกลุ่มฝนล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง

ต่อมาเป็นระบบแจ้งเตือนภัย Emergency Alert System ผ่าน Fondue+ เมื่อกดเข้าไปในปุ่มนี้จะมีข้อความหรือข่าวสารในการแจ้งภัยว่าเกิดเหตุอะไร ที่ไหน เป็นต้น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ โดยอีกนโยบายที่ดำเนินการคือการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สร้างกำแพงกรองฝุ่น ซึ่งตอนนี้ปลูกเกิน 1 ล้านต้น จะไปถึง 3 ล้านต้นแล้ว สำหรับต้นไม้ที่ปลูกจะมีการลงทะเบียนข้อมูลต้นไม้และคนปลูกไว้ด้วยเพื่อให้ทุกคนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและร่วมกันดูแลต้นไม้ไม่ใช่การปลูกแล้วทิ้งไปแต่ช่วยกันดูแลให้เติบโตต่อไป อีกทั้งมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ โดยมีเซ็นเซอร์และสถานีวัดฝุ่น PM2.5 จำนวน 71 จุด 

“การทำให้เมืองยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน โดยเฉพาะนักวิชาการสายปฏิบัติ เพื่อมาช่วยในการออกแบบและสามารถหาคำตอบออกมาได้ หรือแม้แต่เด็กเล็กในวันนี้ วันหนึ่งอาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เคมีหรือนาโนเทคก็ได้” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในตอนท้าย

ด้วย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA - National Innovation Agency Thailand) หรือ สนช. จัดงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2025 ระหว่างวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2568 ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ภายใต้แนวคิดหลัก Global Innovation Partnership (AI & Sustainability: the Next Era of Innovation) เพื่อยกระดับความร่วมมือทางนวัตกรรมในระดับสากลจากทุกภาคส่วนในระบบนิเวศนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาขีดความสามารถทางนวัตกรรม โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยกิจกรรมหลักภายในงาน SITE2025 ประกอบด้วย การสัมมนา นิทรรศการของวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม การนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการประกาศผลรางวัลประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี (Prime Minister Award)