In Bangkok

กทม.ลงตรวจร้านกัญชาทั่วกรุงเข้มใช้กม. ป้องกันลักลอบขายเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง



กรุงเทพฯ-กทม. ลงตรวจร้านกัญชาทั่วกรุง เข้มบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันการลักลอบจำหน่าย พร้อมเฝ้าระวัง กลุ่มเสี่ยง-กลุ่มเปราะบาง

นางภาวิณี  รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการกวาดล้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกัญชาที่ผิดกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาลว่า สนอ. ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับร้านกัญชาในพื้นที่กรุงเทพฯ เรื่องใบอนุญาตจำหน่ายและการแปรรูปจากกัญชาที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (กิจการที่เกี่ยวกับอาหาร) เรื่อง การควบคุม กำกับ ดูแลร้านอาหารที่ใช้กัญชาหรือกัญชง (ใบ) ปรุงประกอบอาหาร โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2566 ส่วนกรณีเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีส่วนผสมของกัญชาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จะต้องปฏิบัติตามประกาศ สธ. (ฉบับที่ 438) พ.ศ. 2565 ออกตามความใน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา หรือกัญชง (ฉบับที่ 2) และประกาศ สธ. (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา หรือกัญชง ทั้งนี้ สำนักงานเขตจะตรวจร้านอาหารในพื้นที่ด้านสุขลักษณะ ด้านสุขาภิบาลอาหาร โดยตรวจคุณภาพอาหารเป็นประจำต่อเนื่อง กรณีร้านใช้กัญชา หรือกัญชงปรุงประกอบอาหาร จะดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามที่ สธ. ประกาศกำหนดและดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน สนอ. ยังได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภทในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยสนับสนุนสำนักการศึกษา (สนศ.) ออกประกาศ กทม. เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชา หรือกัญชงในโรงเรียนสังกัด กทม. และประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขในโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงสนับสนุนมาตรการดำเนินการกรณีพบการลักลอบจำหน่ายฯ ตามอำนาจหน้าที่ของ กทม. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยประสานกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. เสนอ (ร่าง) พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม. ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 เพื่อประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ แจ้งว่าปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ มีความพร้อมและมีพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงพอดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้ หากการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายมีประเด็น หรือสิ่งที่ต้องดำเนินการร่วมกัน กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะหารือร่วมกับ กทม. เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue สายด่วน กทม. โทร. 1555 กรณีพบการลักลอบจำหน่ายกัญชา หรือปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ จากกัญชา โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขตามกฎหมาย

นอกจากนี้ สนอ. ได้สนับสนุนการดูแลพฤติกรรมของเด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดไม่ให้ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท โดยจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงการเป็นนักเรียนโรงเรียนในสังกัด โดยคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานครมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 68 เห็นชอบให้ สนศ. นำหนังสือสัญญาและข้อตกลงการเป็นนักเรียนโรงเรียนในสังกัดแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดนำไปประกาศใช้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกำกับ ดูแล อบรม สั่งสอน ตักเตือน และชี้แนะบุตรหลาน ให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและวินัยของโรงเรียน ซึ่งมีข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการดูแลพฤติกรรมของเด็กนักเรียนไม่ให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท ส่วนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาและสารเสพติดในเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ร่วมกับสถานศึกษา สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการตามแนวทาง ได้แก่ “Early Detection” (ขั้นตอนการคัดกรอง) คัดกรองนักเรียนจากจุดเสี่ยงในโรงเรียน/แหล่งมั่วสุมใกล้สถานศึกษา จากครูในชมรม TO BE NUMBER ONE แบบประเมินภูมิคุ้มกันยาเสพติดและสารเสพติด ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัด คัดกรองผ่านระบบ SO SAFE ระบบเติมเต็ม การคัดกรองจากอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) และอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด กทม. (อสย.) ในชุมชนค้นหาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และแยกกลุ่มของนักเรียนเสี่ยงตามสภาพปัญหาและลงพื้นที่จุดเสี่ยง หรือแหล่งมั่วสุม “Early Intervention” (ขั้นตอนก่อนรับพฤติกรรม) ตรวจปัสสาวะนักเรียนที่มีความเสี่ยงการใช้ยาเสพติดและสารเสพติด

โดยเชิญผู้ปกครองและลงลายมือชื่อในหนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองและสถานศึกษา “Prevention Drop out” (ขั้นตอนการช่วยเหลือ/ปรับพฤติกรรม) กรณีพบสารเสพติด หรือยาเสพติดส่งบำบัด ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง หรือคลินิกก้าวใหม่/คลินิกก้าวใหม่พลัส ดำเนินการเยี่ยมบ้านนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ให้คำปรึกษา/แนะนำครอบครัว ประเมินคัดกรองปัญหาตามความเร่งด่วนด้านการเรียน สุขภาพ รายได้ และสังคม ให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยง และติดตามประเมินผลผลการในด้านการเรียนและอื่น ๆ และ “Pull in” (การนำเด็กและเยาชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา) โดยการลงพื้นที่ชุมชน เพื่อค้นหาและนำนักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษา และเด็ก/เยาวชนที่ศาลพิพากษาให้ปล่อยตัวหรือเด็ก/เยาวชนที่พ้นการฝึกอบรมกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และสามารถศึกษาจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ตลอดจนดำเนินงานด้านการป้องกันการติดยา/สารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน เด็กกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบางทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษาได้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันการป้องกันยาและสารเสพติดให้เด็กและเยาวชน นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง และสังกัด สพฐ. 37 แห่ง ส่วนกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบางทั้งในและนอกสถานศึกษา ได้คัดกรองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนในสังกัด 109 โรงเรียน ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นักเรียนได้รับการคัดกรอง 11,103 คน พบว่า มีภูมิคุ้มกันปกติ 5,305 คน ภูมิคุ้มกันต่ำ 5,416 คน และเสี่ยง 382 คน โดยได้ดำเนินการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดและทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับต่ำและเสี่ยง รวมถึงติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือให้สามารถศึกษาจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้