In Bangkok
บางรักชูหลักเกณฑ์ทำการค้าปี67คัดกรอง แผงค้าเข้มข้นย้ำผู้ค้าอยู่ได้ปชช.เดินดี

กรุงเทพฯ-บางรักงัดหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 คัดกรองแผงค้าอย่างเข้มข้น ย้ำผู้ค้าอยู่ได้ประชาชนเดินดี ต้องไม่ละเลยเงื่อนไข
(19 ก.ค. 68) เวลา 08.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยศาลาแดง 1 จากถนนพระรามที่ 4 ถึงถนนศาลาแดง และถนนปั้นข้างวัดแขก เขตบางรัก โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางรัก สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
“หัวใจสำคัญในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าคือ ผู้ค้าอยู่ได้ประชาชนเดินดี พื้นที่ทำการค้าจะต้องมีความสะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่เทศกิจต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ยึดความถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมายที่กำหนด ตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สร้างความเข้าใจแก่ผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม สุดท้ายแล้วผู้ค้าและประชาชนจะสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวย้ำ
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า เช้านี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตบางรัก จำนวน 2 จุด จุดแรกซอยศาลาแดง 1 ผู้ค้า 15 ราย ส่วนใหญ่จะจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน มีการตั้งวางแผงค้าบนทางเท้า เดิมจะตั้งแผงค้าอยู่ด้านในหันหน้าออกถนน ต่อมาเขตฯ ได้ให้ผู้ค้าย้ายแผงค้าไปตั้งด้านนอกตามแนวต้นไม้แทน เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเดินทางสัญจรได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตามจากการประเมินโดยคณะกรรมการระดับเขต และคณะกรรมการระดับสำนัก พบว่าจุดดังกล่าวไม่ผ่านการประเมิน เนื่องจากทางเท้ามีขนาดเล็กและคับแคบ เมื่อตั้งวางแผงค้าแล้วจะเหลือพื้นที่ทางเท้าไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ค้าไม่จัดเก็บแผงค้าและอุปกรณ์ทำการค้าหลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน ซึ่งในจุดนี้เขตฯ จะพิจารณายกเลิกจุดทำการค้า โดยจัดหาพื้นที่ให้ผู้ค้าเข้าไปทำการค้าในพื้นที่ใกล้เคียง
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า จุดต่อมาถนนปั้นข้างวัดแขก มีผู้ค้า 10 ราย ส่วนใหญ่จำหน่ายดอกไม้และพวงมาลัย ได้เน้นย้ำให้ผู้ค้าช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่ทำการค้า ตรวจสอบไม่ให้มีน้ำแข็งที่แช่ดอกไม้หรือน้ำที่ฉีดพรมดอกไม้และพวงมาลัยไหลนองลงมาบนทางเท้าและพื้นผิวจราจร การตั้งวางแผงค้าให้เว้นช่องว่างระหว่างแผงค้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินเข้าออกได้สะดวก ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ค้าบางรายที่มีแผงค้าขนาดใหญ่เกินกำหนด ให้ลดขนาดของแผงค้าให้เล็กลง ไม่ตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางเท้า เว้นระยะห่างจากประปาหัวแดง ที่ผ่านมาสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ขีดสีตีเส้นแบ่งช่องทางจราจรถนนปั้น รวมถึงตีเส้นกำหนดช่องจอดรถจักรยานยนต์และพื้นที่ห้ามจอด เพื่อจัดระเบียบการจอดรถจักรยานยนต์ตรงหัวมุมถนนปั้นด้านข้างวัดแขก ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถจอดรถจักรยานยนต์ได้มากขึ้น เข้าจอดและถอยออกได้สะดวก โดยไม่กีดขวางการจราจร ในจุดนี้ผู้ค้าให้ความร่วมมือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทำการค้าที่กำหนด ซึ่งเขตฯ จะพิจารณาจัดระเบียบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าต่อไป
ปัจจุบันเขตบางรัก มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 32 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 639 ราย ได้แก่ 1.ถนนนเรศ (ซอยพระพุทธโอสถ) ผู้ค้า 18 ราย 2.ถนนนเรศ (ซอยสันติภาพ) ผู้ค้า 3 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (หน้าวัดหัวลำโพง) ผู้ค้า 38 ราย 4.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ซอย 1 ฝั่งขวา) ผู้ค้า 21 ราย 5.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ซอย 1 ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 21 ราย 6.ซอยสันติภาพ 1 ผู้ค้า 13 ราย 7.ซอยเจริญกรุง 43 ผู้ค้า 13 ราย 8.ซอยสาทร 8 ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนศาลาแดง ผู้ค้า 49 ราย 10.ซอยศาลาแดง 2 ผู้ค้า 14 ราย 11.ซอยศาลาแดง 1 ผู้ค้า 15 ราย 12.ซอยสีลม 20 ผู้ค้า 80 ราย 13.ปากซอยมเหสักข์ ผู้ค้า 8 ราย 14.ซอยสีลม 30 ผู้ค้า 4 ราย 15.ซอยสีลม 22 ผู้ค้า 4 ราย 16.ซอยเจริญกรุง 47/3 ผู้ค้า 17 ราย 17.ซอยปราโมทย์ 3 ผู้ค้า 18 ราย 18.ซอยโทรคาเดโร ผู้ค้า 6 ราย 19.ซอยอนุมานราชธน ผู้ค้า 10 ราย 20.ถนนศรีเวียง ฝั่งซ้าย ผู้ค้า 20 ราย 21.ถนนศรีเวียง ฝั่งขวา ผู้ค้า 34 ราย 22.ถนนเจริญกรุง ฝั่งตรงข้ามโรบินสัน ผู้ค้า 24 ราย 23.ถนนเจริญเวียง ผู้ค้า 18 ราย 24.ซอยสาทร 10 ผู้ค้า 15 ราย 25.ซอยสาทร 12 ผู้ค้า 4 ราย 26.ซอยสีลม 9 ผู้ค้า 10 ราย 27.ข้างสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ผู้ค้า 5 ราย 28.ถนนประมวล ผู้ค้า 9 ราย 29.ถนนปั้น ข้างวัดแขก ผู้ค้า 10 ราย 30.ถนนปั้น ปากซอยถนนปั้น ผู้ค้า 13 ราย 31.ซอยสีลม 19 ผู้ค้า 7 ราย 32.ซอยสีลม 5 ผู้ค้า 118 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 168 ราย ได้แก่ 1.ถนนคอนแวนต์ ฝั่งขวา ผู้ค้า 91 ราย 2.ซอยสีลม 9 ถึงซอยสาทร 12 ผู้ค้า 17 ราย 3.ถนนสุรวงศ์ ขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 7 ราย 2.ถนนสีลม หัวมุมถนนมเหสักข์ ถึงปากซอยสีลม 12 ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ตุลาคม 2567