ECO & ESG

TEI-UNIDOร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่าน นโยบายGPPสมัครใจสู่ภาคบังคับอุตฯปูน



กรุงเทพฯ-TEI-UNIDO ร่วมมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนโยบาย GPP จากสมัครใจสู่ภาคบังคับ   มุ่งลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต 

ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement – GPP) จากระบบ "สมัครใจ" สู่ "ภาคบังคับ" โดยเริ่มให้ความสำคัญกับ ภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดของประเทศ การเปลี่ยนแปลงนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำ “พลังการจัดซื้อของภาครัฐ” มาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emissions ภายในปี 2065 ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้บนเวทีโลก จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GPP) สำหรับซีเมนต์และคอนกรีตคาร์บอนต่ำในประเทศไทย”  นี้ดำเนินการโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)
คุณศุภฤกษ์ คณาสุข National Project Coordinator องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้กล่าวเปิดงาน “UNIDO สนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้โครงการชื่อ “การลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทย” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศแคนาดา โดยโครงการฯ มุ่งหมายที่จะช่วยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต ทั้ง ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการเงินเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนากลยุทธ์การลดคาร์บอนที่เป็นรูปธรรม อาทิเช่น โครงการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GPP) สำหรับซีเมนต์และคอนกรีตคาร์บอนต่ำในประเทศไทย นี้ ที่จะสามารถสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ของประเทศไทยให้เป็นจริง และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน” 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI กล่าวถึงบทบาทของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GPP) ต่อการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตว่า “ภาคการผลิตซีเมนต์และคอนกรีตปล่อยก๊าซเรื่องกระจกจำนวนมาก มีความจำเป็นในการลดคาร์บอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zeo  และที่ต้องเริ่มจากภาครัฐเนื่องจากภาครัฐคือผู้บริโภครายใหญ่ของวัสดุก่อสร้างในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GPP) เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้พลังการซื้อของภาครัฐเพื่อผลักดันตลาด ทำให้เกิดการสร้างอุปสงค์สำหรับวัสดุก่อสร้างที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น ปูนซีเมนต์ผสม หรือคอนกรีตรีไซเคิล การระบุเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมใน TOR เช่น ต้องใช้ปูนที่มีฉลากเขียว หรือค่าคาร์บอนต่ำ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในการจัดซื้อของรัฐและยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาสำหรับซีเมนต์และคอนกรีตคาร์บอนต่ำ

ด้าน ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์ หัวหน้าโครงการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนากรอบแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม-GPP สำหรับปูนซีเมนต์และคอนกรีตคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ประกอบไปด้วย 1) จัดทำข้อกำหนดภาคบังคับในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ  2) เสนอระบบการติดตาม รายงานผล และการทวนสอบ (MRV System) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ 3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยกระดับแนวทางให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล ดำเนินการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้แนวทาง GPP ของประเทศไทยให้ครอบคลุม เหมาะสม และสามารถเชื่อมโยงกับแนวปฏิบัติที่ดีในระดับภูมิภาคและระดับโลก

นายธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ผู้อำนวยการกองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง  กรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มโลกและประเทศไทยที่มุ่งสู่ความยั่งยืน GPP เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายสำคัญ และระบบ   Monitoring, Reporting, and Verification (MRV) เป็นหัวใจในการ “วัดผล” และ “สร้างความน่าเชื่อถือ” ของ GPP โดยมีการติดตามว่าหน่วยงานใช้สินค้าตามเกณฑ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่ การรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบความถูกต้องอาจใช้ฉลาก หรือหน่วยตรวจรับพัสดุ รวมถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ให้รองรับการติดตามผลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ให้เป็นไปตาม พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง  ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560  โดยภาครัฐควรมีข้อมูลครบถ้วนในการวางนโยบาย  เพื่อประชาชนและสังคมสามารถตรวจสอบความโปร่งใส อีกทั้งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีระบบ สอดรับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศ

คุณมงคล พรชื่นชูวงศ์  ผู้ช่วยเลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวถึงความรู้ด้านเทคนิคของปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ และ การนำไปใช้จริงในระบบจัดซื้อจัดจ้าง (BOQ – Bill of Quantities) ภายใต้ GPP ซึ่ง มุ่งผลักดันให้ใช้วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะในงานของภาครัฐ แต่ยังมีความท้ายทายคือ แม้มีเทคโนโลยีแล้ว ยังมีคำถามว่าใช้แทนวัสดุมาตรฐานใน BOQ ได้หรือไม่?  GPP จำเป็นต้องปรับ TOR และ BOQ ให้รองรับวัสดุคาร์บอนต่ำ เช่น “ปูนซีเมนต์ที่ผ่านเกณฑ์สิ่งแวดล้อม เช่น มีฉลากเขียว หรือค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด” หรือเพิ่ม Specification เชิงสิ่งแวดล้อมใน TOR ปรับรูปแบบการระบุวัสดุใน BOQ จากยี่ห้อ/ชนิด ให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพที่กำหนด ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำสามารถสอดคล้องกับ GPP ได้ หากมีการปรับ BOQ ให้ยืดหยุ่น และมีข้อมูลสิ่งแวดล้อมรองรับ ความร่วมมือระหว่างผู้ออกแบบ ผู้จัดซื้อ และผู้ผลิต คือกุญแจสำคัญในการเปิดทางให้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบจัดซื้อของรัฐ

นอกจากนี้ยังมี workshop ดำเนินกระบวนการโดย ดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้อำนวยการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม, TEI ในหัวข้อ “แนวทางเปลี่ยนผ่านไปสู่ GPP ภาคบังคับ และวิธีการติดตามประเมินผล (MRV)" โดยสำรวจความพร้อมเบื้องต้นของผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมงาน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคผู้ผลิต ในเรื่องของการกำหนดนโยบายหรือแผนปฏิบัติเกี่ยวกับ GPP หรือการลดคาร์บอน ระบบการเก็บข้อมูลสำหรับ GPP ที่มีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับ MRV รวมถึงการระดมความเห็นเกี่ยวกับปัจจัยสนับสนุนในการดำเนินการ GPP ภาคบังคับและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ดี GPP ไม่ใช่แค่เครื่องมือจัดซื้อ แต่คือ "เครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง" การเปลี่ยนผ่านนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement – GPP) จากระบบ "สมัครใจ" สู่ "ภาคบังคับ”  ถ้าภาครัฐใช้ GPP อย่างจริงจัง จะมีพลังเปลี่ยนทั้งห่วงโซ่อุปทานของปูนซีเมนต์และคอนกรีตให้ลดคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ