Biz news
จัดประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกที่เบอร์ลิน 'กอบกาญจน์'นำนักธุรกิจหญิงไทยร่วม

กรุงเทพฯ-การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเวียนไปจัดยังประเทศต่างๆ สำหรับปี 2568 นี้ เป็นการฉลองครบรอบ 35 ปี จัดขึ้นที่เบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี หัวข้อหลักการประชุมปีนี้ คือ Women Restoring Values in the Digital Age (บทบาทผู้หญิงกับการฟื้นฟูคุณค่าในยุคดิจิทัล)
ซึ่งประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2565 นับเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ประสบความ สำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้นำสตรีทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เข้าร่วมประชุมเกือบ 1,000 คน เป็นการเปิดประเทศหลังโควิด 19 ที่ได้รับความชื่นชมเป็นอันมาก
ในปีนี้ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรวรางกูร ประธานคณะกรรมการฝ่ายไทย ร่วมด้วยคุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์, หม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช ได้เป็นตัวแทนคณะกรรมการไปร่วมประชุม และมีนักบริหารหญิงไทยที่ได้รับเชิญขึ้นอภิปราย แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีถึงสองคนคือคุณปิยจิต รักอริยะพงศ์ ซีอีโอ บริษัทเซ็ปเป้ และดอกเตอร์นริสา เชื้อวิดุล-ออว์ ซีอีโอ KogoPay (โคโกะ เพย์) ประเทศไทย การจัดงานระหว่างวันที่ 3- 5 กรกฎาคม 2568 มีสตรีผู้นำนานาชาติเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน จาก 60 ประเทศทั่วโลก มีหลายประเทศที่มากันเป็นกลุ่มคณะใหญ่ เช่น สตรีนักธุรกิจในยุโรป อเมริกัน จีน และเกาหลี
ทุกๆ ปี จะมีการเฟ้นหาผู้นำสตรีไทยที่มีความสามารถในระดับนานาชาติ ให้ไปร่วมอภิปรายบนเวทีระดับโลก เพื่อให้ทุกประเทศรับรู้ถึงความเป็นมืออาชีพระดับสากลของทั้งซีอีโอและผู้ประกอบการไทย เพื่อเปลี่ยนภาพพจน์หญิงไทย คนไทย และประเทศไทยว่ามีศักยภาพ มีคุณภาพ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทย คุณปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CEO บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Should Companies Take a Position on Socio-Cultural Issues?” โดยเธอได้กล่าวอย่างชัดเจนบนเวทีว่า SAPPE ยึดมั่นในบทบาทขององค์กรที่ “กล้ายืนหยัดเ พื่อคุณค่าที่เชื่อ” ไม่ใช่แค่ในเชิงกลยุทธ์ทางการตลาด แต่เป็นการส่งเสียงอย่างมีจุดยืน ในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคมและวัฒนธรรม โดยมีคุณค่าหลักขององค์กรที่ถูกหล่อหลอมไว้ใน DNA ได้แก่ ความเป็นนักนวัตกรรม การส่งเสริมบทบาทผู้หญิง และความหลากหลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ “บิวตี้ ดริ๊ง” สะท้อนจุดยืนในการส่งเสริมให้ผู้หญิงดูแลตนเอง รักและภาคภูมิใจในความงามจากภายใน โดยเแคมเปญ “สวยเรา ไม่ต้องสวยใคร” มีแนวคิดว่าควรเป็นคนที่เชื่อมั่นในความงามของตนเอง และสามารถเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ยึดมั่นในเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการเปิดกว้าง องค์กรมีพนักงานหญิงคิดเป็น 53% ของพนักงานทั้งหมด และในระดับผู้บริหารระดับสูงมีสัดส่วนถึง 60% ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการขับเคลื่อนด้วยคุณค่า โดยมีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกับผู้ถือหุ้นรายไตรมาส การสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์และ Social Listening ตลอดจนการเปิดพื้นที่ให้ทีมงานทุกระดับสามารถเข้าถึงผู้บริหารได้โดยตรง
ในฐานะผู้นำองค์กรระดับโลก SAPPE ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม เน้นย้ำว่า ซีอีโอต้อง “Walk The Talk” หรือเป็นผู้ลงมือทำจริงในทุกเรื่องที่องค์กรยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ หรือความรับผิดชอบ ทั้งต่อพนักงาน ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม
ในขณะที่ ดอกเตอร์นริสา เชื้อวิดุล-ออว์ ร่วมอภิปรายในหัวข้อ Women Entrepreneurs เพื่อแลกเปลี่ยนและแชร์ประสบการณ์ร่วมกับผู้บริหารหญิงจากทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย บนเวทีเสวนา ดร.นริสา ได้ร่วมพูดคุยในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการหญิงในยุคเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีคำถามสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย ซึ่ง ดร.นริสา ได้แบ่งปันมุมมองจากประสบการณ์จริง ดังนี้
1. ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และความท้าทายในปัจจุบัน
ในช่วงเริ่มต้นของบริษัทฟินเทค เผชิญความท้าทายสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและหน่วย งานกำกับดูแล โดยเฉพาะในธุรกิจฟินเทคที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือสูง นอกจากนี้ การเป็นผู้หญิงและผู้ก่อ ตั้งจากเอเชียในอุตสาหกรรมการเงินที่ผู้ชายเป็นผู้นำส่วนใหญ่ ก็ถือเป็นอุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม
สำหรับในปัจจุบัน ความท้าทายคือการขยายธุรกิจในระดับสากลให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่ของการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance) การหาผู้ร่วมทำธุรกิจที่เหมาะสม และการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง
2. การทำธุรกิจข้ามพรมแดนและมุมมองต่อการเติบโต
ดร.นริสาเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อมูลที่ว่า ธุรกิจที่ขยายสู่ตลาดระหว่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้เร็วกว่าธุรกิจที่เน้นเฉพาะตลาดภายในประเทศ
3. ทิศทางยุคเศรษฐกิจที่กำลังรีเซ็ต
บริษัทกำลังพัฒนากระเป๋าเงินแบบใหม่จาก Web 2.0 เพื่อพัฒนาเพิ่มเป็น Web 3.0 และ 4.0 ในอนาคต ด้วยแนวคิดเรื่องการเงินแบบกระจายศูนย์ (decentralized finance) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชน โดยเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่ไม่ใช่แค่กระเป๋าเงินดิจิทัล แต่เป็น ecosystem แบบครบวงจรสำหรับทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและธุรกิจภายในปีนี้
4. การนิยาม “ความสำเร็จ” ณ จุดนี้ในชีวิต
“นิยามความสำเร็จในแต่ละช่วงของชีวิตอาจแตกต่างกันไป” ดร.นริสา กล่าวว่า “สำหรับในช่วงเวลานี้ ความสำเร็จไม่ใช่เพียงตัวเลขหรือมูลค่าบริษัท แต่คือการได้ใช้ชีวิตตามพันธกิจที่ตั้งใจไว้ — เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ผ่านเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและความเท่าเทียม”
ในอนาคต ดร.นริสากล่าวว่า ความสำเร็จหรือความฝันของตัวเอง คือการได้มีโอกาสทำงานอาสาอย่างเต็มตัว เพื่อช่วยเหลือคนไม่มีบ้านอยู่ และเด็กกำพร้า
สรุปประเด็น ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง
• ความเชื่อมั่น ความอดทน และการไม่ยอมแพ้ คือหัวใจสำคัญของเจ้าของธุรกิจ
• เทคโนโลยี ควรเป็นพลังในการสร้างความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ
• ความสำเร็จที่แท้จริง คือการใช้ธุรกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม
ก่อนวันงานคณะผู้แทนจากไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเยอรมัน นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ ได้ชมต้นแอปเปิ้ลซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราช ได้ทรงปลูกไว้ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอีกด้วย ก่อนและหลังการประชุมคุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ได้จัดให้คณะผู้ร่วมประชุมเยี่ยมชมห้าง KaDeWe (คาเดเว่) ซึ่งห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้ไปดำเนินการ และเป็นเจ้าของอีกด้วย
ตลอดการประชุม มีหัวข้อที่น่าสนใจหลายเรื่องเป็นประโยชน์แก่ผู้ร่วมประชุมและสังคมอย่างมาก อาทิ ในวันแรกคุณกอบกาญจน์ ได้ร่วมประชุมในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เล่าถึงความคืบหน้าของกฎหมายคุ้มครองเด็กออนไลน์ในไทย ซึ่งกำลังจะผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา และจะช่วยป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเยาวชนไทยให้ลดน้อยลง รักษาภาพลักษณ์ของเด็กและหญิงไทยในสายตาชาวโลกให้ดียิ่งๆ ขึ้นอีกด้วย นับเป็นภารกิจต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยโดยดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ อดีตนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาในพิธีปิดวันสุดท้าย เมื่อครั้งที่จัดประชุมสุดยอด ผู้นำสตรีโลกในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2565 ว่าจะดูแล เด็กและสตรี ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างเต็มภาคภูมิ
กล่าวได้ว่าตลอดการประชุมทุกๆ ปี เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่ง คุณไอรีน เนธิวิเดท ประธานการประชุมผู้คร่ำหวอดแห่งวงการ ได้จุดประกายให้สตรีนักธุรกิจไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงโลก เน้นให้มีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างวิสัยทัศน์ให้เหล่าผู้นำสตรี แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ร่วมประชุมด้วยกัน เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างความสัมพันธ์ มิตรภาพ และไมตรีจิต ให้ผูกพันแน่นแฟ้นกันต่อไป ก่อให้เกิดความช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี
ผู้ร่วมประชุมหลายคนยังจำบรรยากาศของการมาประชุมในไทย ได้พบกับผู้นำสตรีที่เป็นหญิงเก่ง ร่วมเป็นเจ้าภาพหลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ คุณชฎาทิพ จูตระกูล คุณชาลอต โทณวณิกคุณเกษศรา มัญชุศรี ณขัตติยา อินทรวิชัย คุณปฐมา จันทรักษ์ ดร. ณ ฤดี เคียงศิริ ดร. จุฬารัตน์ ตันประเสริฐคุณพัชรพิมล ยังประภากร คุณชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ คุณไขศรี เนื่องสิกขาเพีย รศ. เกศินี วิฑูรชาติ
คุณกรรณิกา ว่องกุศลกิจ คุณประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย คุณต้องใจ ธนะชานันท์ และคุณนิชาภา ยศวีร์
หลายคนยังอยากให้เวียนกลับมาจากที่ประเทศไทยอีก เพราะในครั้งนั้นกรรมการทุกคน ต่างทุ่มกำลังกาย ใจจัดงานอย่างเต็มที่ สำหรับครั้งต่อไป ในปี พ.ศ. 2569 การประชุมฯ นี้ จะเวียนไปจัดที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งก็หวังว่าประเทศไทยจะได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสุดยอด ผู้นำสตรีโลก อีกสักครั้งหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้