In Thailand

ปศุสัตว์สารคามเร่งรักษาโคป่วยลัมปีสกิน



มหาสารคาม-ปศุสัตว์มหาสารคาม จัดหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เร่งรักษาโคป่วย มุ่งสงบโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่โดยเร็ว  

ที่ หมู่บ้านโน่นสะอาด  หมู่ที่  11 ตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม นายนพดล  พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ต่อพงศ์ ประเสริฐสังข์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบรบือ และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดจังหวัดมหาสารคาม ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ สร้างการรับรู้และทำเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Disease) ตามมาตรการต่าง ๆ ของกรมปศุสัตว์ แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือในพื้นที่  รวมถึงจะเร่งดำเนินการรักษาสัตว์ป่วยที่คงเหลือ ให้หายป่วยโดยเร็ว พร้อมทั้งได้มอบสารกำจัดแมลง และสมุนไพรน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้กำจัดและตัดวงจรชีวิตแมลงที่เป็นพาหะนำโรคอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

นายนพดล  พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตั้งแต่พบโรค ในเดือนมีนาคม – ปัจจุบัน ( วันที่ 21 กรกฎาคม 2564)  จังหวัดมหาสารคาม พบสัตว์ป่วยรวม  33,554 ตัว และคงเหลือสัตว์ป่วย 2,600 ตัว จากจำนวนโค กระบือทั้งหมด 323,143 ตัว โดยสถานการณ์การพบสัตว์ป่วยใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบป่วยใหม่วันละ 100  ตัว  ดังนั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม จึงได้จัดหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่ โดยระดมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในสังกัดทั้ง 13 อำเภอ เร่งออกบริการให้ความรู้ และบริการรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยที่คงเหลือให้หายป่วยโดยเร็ว เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมุ่งยับยั้งการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ของเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ให้สงบลงโดยเร็ว ต่อไป

ทั้งนี้ ผลจากการออกหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของจังหวัดมหาสารคาม พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ทำให้สัตว์ที่ป่วยอยู่ ได้รับบริการรักษาจากเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถหล่นระยะเวลาหายจากโรคเป็นปกติเร็วขึ้น โดยเกษตรกรเจ้าของสัตว์ส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือ และดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงของตนเองเป็นอย่างดี บางคนมีการประยุต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้สมุนไพรและตำรับยาร่วมรักษาโรคและอาการแผล เช่น ใช้น้ำส้มควันไม้ พ่นบริเวณตัวสัตว์และบริเวณคอก เพื่อไล่แมลง, สุมไฟให้ควันไฟไล่ยุงและแมลง และใช้ผ้ามุ้งคุมตัวสัตว์ เพื่อป้องกันแมลง ยุง กัด, ไก่จิกแผล และป้องกันเศษอุจจาระ ดิน ฯลฯ เข้าสู่แผล เป็นต้น 

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีโค กระบือ ตายจากโรคลัมปี สกิน นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นายเกรียติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้เร่งรัดให้นายอำเภอในสังกัด จัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบพิบัติจากโรคระบาดลัมปี สกิน เพื่อช่วยเหลือชดเชยกรณีสัตว์ตาย ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง  โดยเร็ว ต่อไป

พิเชษฐ ยากรี - มหาสารคาม