In News
ด่วน!!ศาลอาญายกคำร้องปิดวอยซ์ทีวี. ชี้เสรีภาพสื่อรัฐธรรมนูญคุ้มครอง
กรุงเทพฯ-ศาลอาญายกคำร้องปิดวอยซ์ทีวี-เยาวชนปลดแอก ชี้รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพสื่อ
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะว่า ศาลอาญามีคำสั่งปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ของวอยซ์ ทีวี (Voice TV) และเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) นั้น จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ร้อง ยื่นคำร้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ พศ ๓๔๐/๒๕๖๓
ว่า ได้ตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นการเสนอข่าว จำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน ๑๒ URL (Uniform Resource Locator) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐มาตรา ๒๐ และศาลได้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวตามขอ ต่อมาได้มีการเสนอข่าวดังกล่าวต่อสื่อมวลชน ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม
วันนี้ (วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓) เวลา ๙ นาฬิกา ศาลอาญาไต่สวนคดีหมายเลขดำที่พศ ๓๔๐/๒๕๖๓ ดังกล่าว โดยมีบริษัทวอยซ์ ทีวี จำกัด ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนคำสั่ง ทางไต่สวนได้ความว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ร้อง ได้รับเรื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การออกอากาศทางโทรทัศน์ของ“วอยซ์ ทีวี (Voice TV)” และสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ “Voice TV” และ “เยาวชนปลดแอก (Free YOUTH)” มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาบางส่วนของสื่อดังกล่าวมีลักษณะชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากไม่สามารถให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นการเข้าถึงเป็นการเฉพาะข้อมูลได้ จึงขอให้ปิดช่องทางการสื่อสารทั้งหมดของสื่อดังกล่าวข้างต้น ศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๕ วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๐ ก็ดี พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๙ (๓) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐มาตรา ๒๐ ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา ๓
ของพระราชบัญญัตินี้ระบุว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายถึง ข้อมูล ข้อความ ... ในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาลห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิด ตามมาตรา ๒๐ (๑) ถึง (๓) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ ส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๙ (๓) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัว...นั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความ เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอ ปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชน ทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความ ในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้น เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง ๑๒ รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี และกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง