Travel Sport & Soft Power

น้ำขึ้นรีบตัก!!ชาวสวนฟ้าทะลายโจรอู้ฟู่! รับทรัพย์เดือนละ5หมื่น



ปราจีนบุรี-ฟ้าทะลายโจร “บูม”จากอาชีพเสริมสู่รายได้หลักเดือนละ40,000-50,000บาท/ เดือน/ครัวเรือน ล่าสุดราคา800บาท มีการกักตุน เป็นห่วงผู้บริโภคเรื่องสารเคมีหากปลูกกันมาก!!!

ที่วิสาหกิจชุมชนบ้านดงบัง  เป็นแหล่งปลูกพืชสมุนไพรนานาชนิด   บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่เศษ  ในการส่งจำหน่ายให้กับทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ผู้นำร่องในการผลิตยาสมุนไพร  โดยเฉพาะ “ฟ้าทะลายโจร” ที่ใช้เป็นสมุนไพรทางเลือกในการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในขณะนี้   ที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  ที่ถึงกับขาดตลาด

นายสมัย คูณสุข อายุ 60 ปี ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนบ้านดงบัง  บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 6 บ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก  อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนบุรี เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรในแปลงอินทรีย์ เพื่ออบแห้งส่งขายให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร เล่าความเป็นมาว่า

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านบ้านดงบัง ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนเป็นหลัก ประมาณปี 2537 เริ่มปรับเปลี่ยนมาทำไม้ดอกไม้ประดับตามพื้นที่  รายได้มีขึ้นลงบ้างตามธรรมชาติของตลาด  ต่อมาปี 2540 ไม้ดอกไม้ประดับราคาตกต่ำอย่างมาก ชาวบ้านจึงมองหาทางเลือกใหม่ ด้วยการรวมกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้าน จำนวน 11 ครอบครัว   ปลูกพืชสมุนไพร เริ่มจากปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมส่งให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

จึงได้ไปสอบถามทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผลิตยาสมุนไพรตกลงระหว่างกันว่า บ้านดงบังจะเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรเพื่อป้อนให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีการคุยกันและตกลงว่าจะซื้อ จึงจะเริ่มปลูก

วัตถุดิบที่โรงพยาบาลต้องการในช่วงนั้นคือ ฟ้าทะลายโจร,หญ้าปักกิ่ง เพราะฉะนั้นสมุนไพรตัวแรกที่ปลูกคือ ฟ้าทะลายโจร   หญ้าปักกิ่ง  โดยโรงพยาบาลอภัยภูเบศรได้นำพันธุ์มาให้ทดลองปลูก เมื่อปลูกสำเร็จมีความเจริญงอกงาม นำมาสู่การขยาย มีการปลูกสมุนไพรชนิดอื่นเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันปลูกสมุนไพรหลักที่ส่งให้กับทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ทั้งสิ้น 15 ชนิด อาทิ หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว เพชรสังฆาต เสลดพังพอน ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน ใบชะพลู ทองพันชั่ง อัคคีทวาร เป็นต้น พื้นที่ปลูกกว่า 60 ไร่

ซึ่งที่นี่เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ ในปัจจุบันได้รับรองมาตรฐานเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์แล้วได้รับมาตรฐานรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท. ซึ่งเน้นในเรื่องของความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้สารเคมี และทำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพืชสมุนไพรที่ปลูกทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นผู้รับซื้อทั้งหมดพืชสมุนไพรต่าง ๆ ส่วนหนึ่งใช้ดูแลพึ่งพาตนเอง  เวลาเจ็บป่วย  อาทิ  เป็นไข้หวัด  ไอ เจ็บคอ กินฟ้าทะลายโจร  ท้องอืดกินใบชุมเห็ดเทศ  เป็นต้น  

 ลักษณะแปลงปลูกเป็นการปลูกป่า 3 ระดับ ประกอบด้วยไม้สูง ไม้กลาง และไม้ล่าง เป็นการจัดการแปลงปลูกแบบองค์รวม เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งบ้านดงบังแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์

สมุนไพรเด่นที่บ้านดงบังปลูกเป็นหลัก มีจำนวนการสั่งซื้อสูง และมีการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกรอบการสั่งซื้อ คือ ฟ้าทลายโจร หญ้าปักกิ่ง และเพชรสังฆาต ซึ่งในการผลิตแต่ละครั้งจำนวนจะขึ้นอยู่กับการออเดอร์ของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีการวางแผนส่งขายสมุนไพรแต่ละชนิดภายในสมาชิกด้วยกัน โดยการแบ่งกันปลูกและส่งขายตามจำนวนสมาชิก เช่น เมื่อมีการส่งฟ้าทลายโจร 20 ตัน สมาชิกทั้ง 11 ราย ต้องรับผิดชอบผลิตด้วยกัน คือมีการผลิตเฉลี่ย รายละ 2 ตัน เพื่อส่งให้กับโรงพยาบาล เป็นวิธีการช่วยเหลือและแบ่งปันรายได้กันอย่างทั่วถึง 

โดยใช้พื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจร  เนื้อที่ 5 -10 ไร่เศษ    ซึ่งสร้างรายได้โดยเฉลี่ยให้แต่ละครอบครัวได้เดือนละมากกว่า 20,000 – 30,000 บาท/เดือน/ครอบครัว และ สถานการณ์โควิด-19 นี้   สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเหมือนเป็น  “นางฟ้า” สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกนับเท่าตัว  40,000-50,000บาท/เดือน

โดยตั้งแต่เดิมนั้น  ราคาฟ้าทะลายโจร  ปกติจากราคา 180 บาท /กก.  หลังสถานการณ์โควิด-19ปี2563ราคาเพิ่มสูงขึ้นไล่มาจาก300-600 บาท/กก.และในปัจจุบันที่คนใช้กินแบบแคปซูล-ต้มดื่มแล้วได้ผล  มีการแจกจ่ายตามเรือนจำ ตาม รพ.สนาม ราคาพุ่งสูงถึง 800 บาท / กก. และพบว่ามีการกักตุนแล้ว

เมื่อถึง  ณ จุดนี้  น่าจะมีการได้พูดคุยกัน  ระหว่างผู้ปลูก  ผู้บริโภค  และพ่อค้าคนกลาง เพื่อกำหนดมาตรฐานการปลูก และราคากลาง ที่จะสามารถควบคุมมาตรฐานได้!

ณ วันนี้ เมื่อฟ้าทะลายโจร  ราคาสูงถึง 800 บาท /กก.  ปลูกที่ใช้สารเคมีสามารถเร่งผลผลิต เร่งให้โตได้ผู้คนจะหันไปทำเกษตรแบบเคมี    แต่เกษตรอินทรีย์ต้องทำตามมาตรฐาน  คนกินฟ้าทะลายโจรก็จะไม่ปลอดสาร    ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเราต้องการบริโภคฟ้าทะลายโจรปลอดสารเคมี

แม้บนความต้องการฟ้าทะลายโจรสูงนี้   ทางกลุ่มดงบัง ยังใช้พื้นที่เท่าเดิมในการผลิต  แต่ทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม อาทิ ต.วังท่าช้าง เป็นต้น

และจากที่ฟ้าทะลายโจร  กำลังเป็นที่นิยม  สำหรับผู้บริโภค  และ ผู้ต้องการปลูก พบว่า  มีผู้ติดต่อสั่งซื้อ  ต้นฟ้าทะลายโจร  และเมล็ดพันธุ์ทั้งวัน  โดยได้ตั้งราคาจำหน่าย  ขายต้นละ 15 บาท  ที่ต้องสั่งตั้งแต่ 500ต้นขึ้นไป  ถ้าหากสั่งซื้อปลีกเป็นต้น ๆ ราคาจำหน่ายต้นละ 20 บาท/ต้น  ส่วนเมล็ดพันธุ์ราคาซองละ 100 บาท ใน 1 ซองมีเมล็ด 18 ฝัก ราว 120 -150 เมล็ด  ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่ คุณสมัย คูณสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง เบอร์โทรศัพท์ (087) 087 5039

ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ส่วนใหญ่ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ เช่น ฟ้าทลายโจร จะใช้การเพาะเมล็ด แต่ส่วนมากแล้วเป็นการขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ มีข้อดีคือเติบโตเร็ว

การดูแล ให้ปุ๋ยการทำเกษตรอินทรีย์ ปัจจัยที่ใช้ต้องปลอดสารเคมี ที่นี่ใช้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพศัตรูพืชของสมุนไพรไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสมุนไพรที่ปลูกส่วนมากทีรสขม ซึ่งศัตรูพืชไม่ชอบอยู่แล้ว อีกทั้งการปลูกแบบหลากหลายทางระบบนิเวศ ธรรมชาติจะจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ การจัดการแปลงปลูกส่วนมากเป็นเรื่องของการกำจัดวัชพืช

ให้น้ำบ่อยให้ทุกเช้า วันเว้นวัน ช่วงฤดูฝนไม่ต้องลดน้ำ ให้ธรรมชาติจัดการด้วยตัวเอง โดยรวมแล้วการปลูกสมุนไพรปัญหาในเรื่องของความแคระแกร็นต่างๆ จะน้อยหรือแทบไม่มีเลย 

วิธีเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจร  การเก็บผลผลิตจะเก็บตามอายุ ฟ้าทลายโจร จะมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 2-3 เดือน โดยดูช่วงออกดอกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของต้น  ตัดต้นเหนือจากดิน 1 ฝ่ามือ เมื่อเก็บสมุนไพรจากแปลงแล้ว จะมาคัดสิ่งปนเปื้อน ส่วนที่ไม่ต้องการทิ้ง จากนั้นนำไปล้างน้ำสะอาด 3 ครั้ง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำมาหั่น เข้าโรงตาก ตากให้แห้ง 80% แล้วนำเข้าเตาอบด้วยอุณหภูมิ 60 องศา นาน 2 ชั่วโมง ก่อนจะบรรจุถุงเตรียมส่งขาย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรตามออร์เดอร์

สมุนไพรชิ้นแห้งที่ส่งขาย เป็นราคาสมุนไพรออร์แกนิก ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรเป็นรายได้เสริม แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นรายได้หลักของแต่ละครอบครัวไปแล้ว

“สำหรับผู้ที่มีความสนใจอยากปลูกสมุนไพรขาย สิ่งสำคัญอยู่ที่การตลาด เกษตรกรปัจจุบันทำการตลาดไม่เป็น ควรมีการพูดคุยกัน ตกลงกันกับผู้ซื้อ วางระบบให้เห็นเป็น”นายสมัยกล่าวในที่สุด

มานิตย์   สนับบุญ/ปราจีนบุรี