In Bangkok

กทม.ปิดสถานที่พร้อมดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่ม



กรุงเทพฯ-ผุ้ว่าฯกทม.ปิดสถานที่ฉับที่39 และเดินหน้าดูแลผู้ป่วยโควิดทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ดูแลกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

(2 ส.ค.64) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกทม. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบTeleconference 

ในที่ประชุม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ได้รายงานการบริหารจัดการสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 2 ส.ค.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,979 ราย หายป่วย 13,919 ราย และเสียชีวิต 178 ราย สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ เขตคลองเตย ภาพรวมผลการดําเนินงานของทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (Bangkok CCRT) จำนวน 163 ทีม ลงพื้นที่ชุมชนแล้ว 2,059 แห่ง ให้บริการประชาชนสะสมจำนวน 104,494 คน โดยให้บริการวัคซีนประชาชน จำนวน 75,158 ราย ให้บริการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK จำนวน 21,107 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 2,471 ราย ทั้งนี้ทีมได้ให้คำแนะนำผู้ติดเชื้อในการแยกกักตัวที่บ้านHome Isolation รวมทั้งนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ และนำส่งสถานพยาบาลทุกคนแล้ว นอกจากนี้ ทีมCCRTจะลงพื้นที่ชุมชนที่ยังตกค้างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 20 ส.ค.64 อีกกว่า 336 ชุมชน

ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 (Sentinel Surveillance) ในตลาด เป้าหมาย 466 ตลาด ดําเนินการได้ 346 ตลาด จำนวนผู้รับการตรวจ 18,952 ราย พบเชื้อ 365 ราย ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 (Sentinel Surveillance) ในชุมชน เป้าหมาย 248 ชุมชน ดําเนินการได้ 252 ชุมชน จำนวนผู้รับการตรวจ 12,222 ราย พบเชื้อ 194 ราย ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 (Sentinel Surveillance) ในแคมป์คนงาน เป้าหมาย 608 แคมป์ ดําเนินการได้ 102 แห่ง จำนวนผู้รับการตรวจ 6,446 ราย พบเชื้อ 544 ราย ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 (Sentinel Surveillance) ในโรงงาน เป้าหมาย 72 โรงงาน ดําเนินการได้ครบ จำนวนผู้รับการตรวจ 5,892 ราย พบเชื้อ 380 ราย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การดูแลตามแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว ในส่วนของจำนวนผู้ที่ได้รับการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 9,831 ราย

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อของกรุงเทพมหานคร จำนวน 60 ศูนย์ฯ พร้อมเปิดให้บริการจำนวน 43 แห่ง รับผู้ป่วยได้ 5,295 เตียง อย่างไรก็ตามเนื่องจากในขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน และจากการคาดการณ์จะมีฝนตกต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนตุลาคม สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ โดยส่วนใหญ่จัดตั้งในอาคารถาวรทั้งหมด มีเพียง 1 ศูนย์ฯที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม คือ ศูนย์ฯ โรงเรียนการไปรษณีย์ เขตหลักสี่ นอกจากนี้มีศูนย์ฯ ซึ่งพบปัญหาน้ำท่วมอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์พักคอยฯ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการเจ้าพระยา(ราชเทวี) ถนนเพชรบุรี (แยกอุรุพงษ์) และศูนย์พักคอยฯ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย(เขตจอมทอง)ถนนพระราม 2 ซอย 40 เบื้องต้นสำนักการระบายได้เตรียมความพร้อม ทั้ง 3 จุด โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้าขนาดเล็กตามขนาดบ่อพัก ขยายบ่อพักท่อระบายน้ำเดิม และจัดเตรียมหน่วยเบสท์ และเครื่องสูบน้ำโมบายยูนิทเพื่อเข้าสนับสนุนเพิ่มเติมหากมีฝนตกหนักในพื้นที่

ดูแลกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

สำนักพัฒนาสังคม รายงานการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบาง  (คนไร้บ้าน ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง) การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกลุ่มผู้สูงอายุ (ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับวัคซีนในพื้นที่ กทม. จากหน่วยฉีดทุกสังกัด ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 26 ก.ค. 64 จำนวนเป้าหมาย 1,373,250 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 778,037 คน คิดเป็นร้อยละ 56.66 เข็มที่ 2 สะสม 42,143 คน คิดเป็นร้อยละ 3.07 ในส่วนคนพิการ สำนักพัฒนาสังคม ได้สำรวจคนพิการในองค์กรคนพิการในพื้นที่ กทม. ที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 8 แห่ง รวม 1,298 คน โดยทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca บริเวณจุดฉีดวัคซีน SCB สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 64 เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของคนไร้บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตพระนคร กรมสุขภาพจิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ประชุมหารือแก้ปัญหาโควิด-19 กลุ่มคนเร่ร่อนในพื้นที่ กทม. โดยเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย การตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนไร้บ้าน กรณีพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จะประสานส่งต่อคนไร้บ้านที่ติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในศูนย์พักคอยฯ กรณีมีเตียงไม่เพียงพอจะประสานส่งต่อในพื้นที่ข้างเคียง กรณีติดเชื้อ (สีเขียว) และมีอาการทางจิตเวช จะส่งต่อหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และโรงพยาบาลศรีธัญญา ทั้งนี้หากไม่พบการติดเชื้อ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) ดำเนินการเชิญชวนเข้า พักอาศัยในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ และบ้านมิตรไมตรี 4 แห่ง 

นอกจากนี้ สำนักเทศกิจ ได้รายงานความคืบหน้าโครงการเทศกิจอาสา ซึ่งรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนผ่านไลน์แอดอัศวินคลายทุกข์  สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ แอดมินเทศกิจอาสาทำการตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สอบถามข้อมูลของผู้ป่วย จากนั้น เทศกิจอาสาจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ด้วยวิธีการ 1. ประสานศูนย์สาธารณสุขพื้นที่ นำข้อมูลผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home Isolation และ Community Isolation โดยมีเทศกิจอาสานำส่งผู้ป่วยเข้า Community Isolation หรือจัดส่งยารักษาโรคให้ผู้ป่วย Home Isolation หรือ 2. ประสานศูนย์เอราวัณ เพื่อนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยมีเทศกิจอาสารับผู้ป่วยจากที่พักอาศัยนำส่งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel โดยมีผลการประสานงานของเทศกิจอาสา ตั้งแต่วันที่ 29 – 30 ก.ค. 64 ดังนี้ ศูนย์เอราวัณ 9 ราย ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 ราย Home Isolation 11 ราย เข้ารักษาตัวที่ รพ. 8 ราย และได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก 5 ราย รวม 41 ราย