In Thailand

ร้อยเอ็ดเปิดฝึกป้องกันอุทกภัยปี2564



ร้อยเอ็ด-เปิดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกรณีอุทกภัย ปีพ.ศ. 2564

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดร้อยเอ็ด (กรณีอุทกภัย) ปีพ.ศ. 2564 พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แผนประเชิญเหตุอุทกภัยจังหวัดร้อยเอ็ด” ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมนี้ได้มีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังส่วนราชการ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย


ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดทำโครงการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขึ้น โดยในปีนี้เป็นการฝึกด้านสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดการฝึกด้านอุทกภัยเป็นภัยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงในพื้นที่ และมีความเหมาะสมกับการฝึกฯ กลไกการทำงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดโดยกำหนดรูปแบบการฝึกเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise) และ ฝึกบนโต๊ะ Table Top Exercise (TTX) ซึ่งมีวัตถุประสงค์  ดังนี้
1. เพื่อทดสอบระบบการแจ้งเหตุ และระบบการติดต่อสื่อสารในการเตรียมการป้องกัน และประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยปฏิบัติการหลักและหน่วยร่วมปฏิบัติให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยด้านอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อทดสอบแผนเผชิญเหตุ/แผนปฏิบัติการ ในการอำนวยการ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
3. เพื่อทดสอบระบบการบัญชาการเหตุการณ์ และเพิ่มทักษะในการปฏิบัติ  ประสานงาน และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ให้พร้อมต่อการปฏิบัติงาน ทั้งในระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และภายหลังที่ภัยผ่านพ้นไปแล้ว
 
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า สาธารณภัยที่เป็นประธานอยู่ขณะนี้คือการระบาดของโรค โควิด-19 ดังนั้นการจัดทำแผนป้องกันอุทกภัยจึงควรเป็นแผนย่อยภายใต้แผนประเชิญเหตุ โควิด-19 เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จังหวัดร้อยเอ็ดจะเกิดอุทกภัยในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการดำเนินการตามแผนอุทกภัยจะต้องดำเนินการภายใต้แผนเผชิญเหตุ โควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการแบบเดิมไม่ได้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน พร้อมนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้เน้นย้ำว่าจังหวัดจะต้องประเมินสถานการณ์และจำลองสถานการณ์แบบ Worst case scenario เพื่อเตรียมการรับมือบริหารความเสี่ยงสำหรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้เน้นย้ำว่าขอให้สวนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ต้องประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์พร้อมทั้งดูพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก จากนั้น 2) วางระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า ภัยธรรมชาติยิ่งรู้เร็ว รู้ก่อน แจ้งเตือนล่วงหน้าจะทำให้จัดการได้ง่ายเสียหายน้อย จากนั้น 3) ต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุและเตรียมความพร้อมในด้านการป้องกันยับยั้ง เช่น การลอกท่อ ลอกคลอง เตรียมกระสอบทราย  และเมื่อเกิดภัย 4) ต้องมีการประกาศภัยเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบขั้นตอน