In Thailand
ร้อยเอ็ดทำMOUบูรณาการแก้ความจน
ร้อยเอ็ด-ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 11.15 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดร้อยเอ็ดระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กับ หน่วยงานภาคีเครือข่าย และผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุม 9A อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมีดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom Meeting และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลย ภูมิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดและภาคีเครือข่ายความร่วมมือทุกหน่วยงานเข้าร่วม
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดร้อยเอ็ดระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กับ สำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ทำการปกครองจังหวัดร้อยเอ็ด ท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานคลังจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด บริษัท สฤก จำกัด ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ ในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง ภายใต้แผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติและการเสริมพลังทางสังคม และเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดให้สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการและการบริการที่มีคุณภาพของรัฐและมีอาชีพที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งการให้บริการทางด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคุณภาพของประชาชน โดยการประสาน และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาคีที่เกี่ยวข้อง เป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ทั้งนี้ บันทึกตกลงความร่วมมือดังกล่าวไม่มีข้อความขัดหรือแย้งกับกฎหมายและระเบียบแต่อย่างใด โดยมีวัตถุประสงค์ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาระบบและโครงสร้างการแก้ไขปัญหา ความยากจนด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ และแม่นยำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
3. เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันวิชาการ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนจนเป้าหมายให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และหาแนวทางในการปรับปรุงเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เอื้อ ต่อการสร้างหรือเพิ่มรายได้ เพื่อให้คนจนเป้าหมายสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีความพร้อมในการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาจังหวัดระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุดด้วย โดยมีการนำแนวทางการพัฒนาแบบ Smart City และแนวคิด BCG Model และยุทธศาสตร์ด้านการต่อสู้กับความยากจน โดยมีศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดร้อยเอ็ด (ศจพ.จ.รอ.) และจะได้ร่วมกับภาคีการพัฒนาทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกัน โดยเอาปัญหาความยากจนเป็นศูนย์กลาง (Center) เอางานวิจัยมาช่วย เพื่อมุ่งสู่การประกาศเป็นพื้นที่หลุดพ้นความยากจนโดยเร็ว