In Thailand

ร้อยเอ็ดระบายข้าวหอมมะลิ-สินค้าเกษตร



ร้อยเอ็ด-ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เร่งระบายข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการร้อยเอ็ด

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมนี้คณะกรรมการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์การเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) จังหวัดร้อยเอ็ด ได้เข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ (Zoom Meeting) เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย โดยมีนายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โอกาสนี้นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยเข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ (Zoom Meeting) ด้วย 

ด้วยคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรล่วงหน้าเมื่อประสบปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเห็นควรเสนอให้มีการปฏิบัติงานในลักษณะเชิงรุกเพื่อเตรียมการล่วงหน้าก่อนผลผลิตทางการเกษตรจะออกสู่ตลาดซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น จึงขอความร่วมมือจังหวัดทุกจังหวัด กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ

ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นประจำทุกเดือน หรือมากกว่านั้น เพื่อจะสามารถวางแผนและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการฯ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จังหวัดจึงได้จัดประชุมในวันนี้

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุมได้ติดตามรับทราบสถานการณ์สินค้าเกษตรที่มีปัญหาของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้แก่ ข้าวนาปีที่มีราคาตกต่ำ และการส่งออกประสบปัญหา ส่งผลให้ข้าวในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดค้างสต๊อก ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในรองการผลิต 2564/65 พร้อมนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานธ.ก.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รายงานการโอนเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและปลูกสินค้าเกษตรห้าชนิดปีการผลิต 2563 / 64 และรับทราบการรายงานปริมาณข้าวคงเหลือตามโครงการสินเชื่อ ธ.ก.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด รับทราบปริมาณข้าวคงเหลือค้างสต๊อกของผู้ประกอบการโรงสีจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีปริมาณแบ่งเป็นข้าวเปลือก 52,440 ตัน ข้าวสาร 21,066 ตัน  สำหรับสถาบันเกษตรกรมีปริมาณข้าวคงเหลือแบ่งเป็นข้าวเปลือก 40,442 ตัน ข้าวสาร 9,043.78 ตัน พร้อมนี้ที่ประชุมได้รับทราบกรณีจังหวัดร้อยเอ็ดขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ประสานสมาคมผู้ส่งออกข้าวและผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวค้างสต๊อกของโรงสีและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด โอกาสนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับชมรมโรงสีข้าวจังหวัดร้อยเอ็ดได้ประสานหารือกับกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศเพื่อประสานสมาคมผู้ส่งออกข้าวและผู้ประกอบการค้าข้าวให้เกิดการเจรจาพูดคุยถึงการส่งออกข้าวและซื้อขายข้าวในโอกาสต่อไป 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวคงเหลือในสต๊อกของจังหวัดร้อยเอ็ดพร้อมทั้งวางแผนและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดร้อยเอ็ดโดยมีมติสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้มีการจัดทำโครงการจำหน่ายข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ดให้กับข้าราชการลูกจ้างในส่วนราชการของจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อกระตุ้นการบริโภคและกระจายข้าวให้ได้มากที่สุด โดยมอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด สหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด จัดทำโครงการดังกล่าว
2. ให้มีการจำหน่ายข้าวหอมมะลิในปั๊มน้ำมันทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด
3. เชิญชวนให้ร้านอาหารทุกร้านในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดใช้ข้าวหอมมะลิจังหวัดร้อยเอ็ดโดยมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด และผู้แทนภาคเอกชนได้ร่วมกันรณรงค์
4. ในการจัดหาถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อนจากโรค โควิด-19 ต้องใช้ข้าวหอมมะลิของจังหวัดร้อยเอ็ด
5. มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสหกรณ์การเกษตรระหว่างจังหวัดเพื่อกระจายข้าวหอมมะลิให้ได้มากที่สุดและสนับสนุนการกระจายสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดคู่ค้าด้วย
6. ให้มีการกระจายข้าวหอมมะลิไปยังศูนย์ OTOP ทั่วประเทศ โดยมอบหมายพัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ดดำเนินการประสานงาน
7. จังหวัดร้อยเอ็ดจะได้ร่วมกับสมาคมภัตตาคารไทยซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการระบายข้าวไปยังร้านอาหารและเครือข่ายของสมาคมฯ 
8. ส่งเสริมให้มีการจำหน่ายข้าวหอมมะลิผ่านช่องทางออนไลน์โดยมอบหมายสหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ดได้หารือกับสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด และสกต.ร้อยเอ็ด เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก Allibaba.com ในนามจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนการจำหน่ายข้าวผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังต่างประเทศ 
9. เพิ่มช่องทางการระบายข้าวไปยัง Modern Trade ต่างๆ ทั้ง 7-11 Lotus 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการจัดทำแบรนด์ข้าวจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อใช้เป็นแบรนด์หลักในการจำหน่ายข้าวหอมมะลิทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยจะใช้แบรนด์ข้าวหอมมะลิหอโหวต โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้ใช้แบรนด์ดังกล่าวตามที่สำนักงานพาณิชย์นำเสนอพร้อมทั้งได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ดได้ร่วมหารือในรายละเอียดก่อนการนำไปใช่จริงร่วมกับสหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด ดร.สถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ โดยมีนายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นประธานในการพิจารณา โอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้เน้นย้ำว่า เมื่อแบร์นข้าวหอมมะลิแล้วเสร็จจังหวัดร้อยเอ็ดจะให้มีการเปิดตัวโครงการจำหน่ายเข้าหอมมะลิร้อยเอ็ดภายในเดือนหน้าต่อไป