In Bangkok
กทม.ยกระดับมาตรการรับมือผู้ป่วยโควิด คณะแพทย์คาดส.ค.นี้จะมียอดสูงที่สุด
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม. ยกระดับมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เตรียมพร้อมหากผู้ติดเชื้อรายใหม่เดือนส.ค.นี้จะสูงขึ้นตาม แบบการคาดการณ์ของแพทย์
(6 ส.ค.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยว่าเดือน ส.ค.นี้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ในส่วนของกรุงเทพมหานครวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 4,000 กว่าราย ส่วนหนึ่งจากการเร่งค้นหาผู้ป่วยโดยกรุงเทพมหานครตรวจคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการตรวจ ณ สถานพยาบาล จุดตรวจเชิงรุก 6 จุด ใน 6 พื้นที่กลุ่มเขต รวมถึงการตรวจ ณ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ และการลงพื้นที่ในชุมชนโดยทีม CCRT ของสำนักอนามัย อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงเดือนส.ค.นี้ ขณะที่ รพ.ในกทม. ทุกแห่งเพิ่มศักยภาพเตียงเตรียมการรองรับผู้ป่วยระดับเหลืองและแดง รวมทั้งการเพิ่มศูนย์พักคอยให้ได้มากที่สุดทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับมาตรการรองรับผู้ติดเชื้อในขณะนี้ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ(Community Isolation : CI) ที่ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครมีทั้งหมดจำนวน 65 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 48 แห่ง จำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วย ได้ 8,625 เตียง โดยใช้ทั้งอาคารของภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งได้ใช้อาคารของโรงเรียนเป็นศูนย์พักคอยหลายแห่ง อาทิ โรงเรียนวัดสุวรรณารามวิทยาคม เขตบางกอกน้อย และโรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม เขตบางพลัด และได้มีการยกระดับศูนย์พักคอย ให้เป็นกึ่งโรงพยาบาลสนาม หรือเป็น CI PLUS โดยติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีอาการ หรือผู้ป่วยสีเหลือง ได้ 7 แห่ง รองรับผู้ป่วย จำนวน 1,036 เตียง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในการร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยในลักษณะ Semi-Community Isolation ขนาดเล็ก อีกจำนวน 19 แห่ง รับผู้ป่วยได้ 452 เตียง และศูนย์พักคอยซึ่งดูแลโดยชุมชนเอง 2 แห่ง ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนใต้ รองรับผู้ป่วยได้ 660 เตียง ซึ่งในอนาคตกรุงเทพมหานครจะขยายแนวคิดนี้ไปสู่ชุมชนอื่นที่มีความพร้อมต่อไป
อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เล็งเห็นว่าการระบาดในระลอกนี้ การแยกรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation :HI) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญที่จะให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยได้ดูแลและรักษาตนเองที่บ้าน แต่ด้วยกรุงเทพมหานครมีลักษณะของการเป็นชุมชนเมือง บ้านที่พักอาศัยมีความแออัด จึงมีโอกาสในการแพร่เชื้อสูง ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจำเป็นต้องแยกตนเองเข้าพัก ณ ศูนย์พักคอย ฯโดยขณะนี้ช่องทางในการประสานงานหลักของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศคือสายด่วนของ สปสช. 1330 ซึ่งมีผู้ขอรับบริการเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นว่าในส่วนของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งอาจยังตกค้างในระบบ สามารถติดต่อประสานงานได้ จึงได้สั่งการให้ 50 เขตเพิ่มเบอร์สำหรับประสานงานและให้ความช่วยเหลือ เขตละ 20 คู่สาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ซึ่งขณะนี้แต่ละเขต มีประชาชนโทรขอรับบริการกว่า 50 -70 สายต่อวัน