Travel Sport & Soft Power

'ราชดำเนิน'ฉายภาพจากเรื่องเล่า3Gen 121ปีถนนสายนี้ต่างยุคต่างมุมมอง



กรุงเทพฯ-หลากหลายความทรงจำประสบการณ์และเรื่องเล่าของผู้คนต่างวัยใน “ราชดำเนิน”แม้มิใช่ชาวกรุงเทพมหานคร แต่ชื่อของ“ราชดำเนิน” ก็เป็นที่รู้จักคุ้นเคยดีสำหรับคนไทยด้วยเป็นชื่อของถนนสายสำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานถึง 121 ปีถนนสายนี้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความทรงจำของผู้คนมากมาย ที่ได้บันทึกเรื่องราวหลากหลายผ่านกาลเวลาเป็นเรื่องเล่าต่างมุม ต่างยุคต่างสมัย ต่างวัย และต่างเจน(Generation)

ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร นักแสดงสาว ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการฯ ครั้งนี้เล่าถึงการชมนิทรรศการ"ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย"ว่าเป็นนิทรรศการที่ทำให้ได้รับทราบมุมมองของคนต่างวัยและเรียนรู้ว่าถนนเส้นนี้ได้ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มามากมายอย่างไรเป็นการเปิดมุมมองของตัวเองที่กว้างขึ้นจากที่เคยได้เรียนรู้มา

“การที่จะมาผสานกันได้ ก็เกิดจากเราเปิดกว้าง เปิดใจมาพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันประสบการณ์บนถนนราชดำเนินสำหรับฟรังถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ซึ่งทุกคนมักได้เห็นกันแต่ยังมีเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ซึ่งหลายเรื่องเราก็ไม่เคยได้รับรู้ แต่ก็ได้มารู้จากนิทรรศการนี้ซึ่งมีการประชันความคิดกันเยอะ มันเป็นเวทีที่ทำให้คนต่างวัย ต่างความคิดได้มาเจอกันมาแลกเปลี่ยนมาประชันความคิดกัน ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้นอกจากภาพที่เราเห็นจนชินตาแล้วชุมชนเล็กๆ มากมายหลังกำแพง หลังวัด ก็ทำให้เรารู้สึกอยากเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนอยากจะทำความรู้จักในอีกมุมหนึ่งมากขึ้น อย่างเรื่องของคนไร้บ้านถนนเส้นนี้ก็มีผลต่อชีวิตของเขาค่อนข้างเยอะเพราะที่นี่ก็เป็นบ้านของเขาและเขาก็มีอิทธิพลต่อถนนเส้นนี้เหมือนกันถ้ามีโอกาสก็อยากได้มาเรียนรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้มากขึ้น
จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้มาชมนิทรรศการฯ นี้ค่ะ”

จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ซึ่งปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรมสังคมและถ่ายภาพ คือตัวแทนของกลุ่มที่เรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’ที่ถือเป็นผู้สร้างความทรงจำเรื่องสัญลักษณ์ประชาธิปไตยบนถนนสายนี้ โดยเธอกล่าวว่าความทรงจำสำหรับคนวัย 60ปีขึ้นไปนั้น จะมีความพิเศษเกี่ยวกับถนนราชดำเนินอย่างหนึ่งคือเรื่องของ‘การเมือง’เพราะได้ผ่านมาหลายเหตุการณ์โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม“ถนนราชดำเนินกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือสัญลักษณ์ที่ถูกใช้เยอะที่สุด ไม่ว่าเราจะมองจากมุมของสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์หรือการเมืองปัจจุบัน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันนี้ได้ถูกตีความไปหลายแบบซึ่งนิทรรศการนี้พยายามนำเสนอในสิ่งต่างๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าชมจะถอดรหัสออกมาได้อย่างไรมันแล้วแต่ความรับรู้พื้นฐานแต่อยากบอกว่าถนนราชดำเนินมีอะไรน่าสนใจมากกว่านั้นเยอะคือสนใจการเมืองได้แต่อย่ามองข้ามถนนราชดำเนินเป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ความหรูสนามหลวงสมัยนั้นก็เปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งกินปลาหมึกย่างขี่จักรยานเล่นว่าวมีตลาดนัดที่ขายปลาทองชีวิตราตรีก็มีแสงสีมีทั้งบาร์ ทั้งนักร้องใส่ชุดราตรียาวศิลปินแห่งชาติหลายท่านก็ดังขึ้นมาจากบาร์พวกนี้ มันเป็นยุคที่มีเรื่องอิทธิพลอเมริกันเข้ามาหนักมากอาคารที่เห็นใครๆ ก็บอกว่าเหมือนปารีส ส่วนตัวเองจะเข้าอาคารศึกษาภัณฑ์พาณิชย์บ่อยที่สุดเพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่นักเรียนคนหนึ่งต้องใช้นิทรรศการนี้ก็พยายามจะประมวลรวบรวมสิ่งที่ผู้คนได้สะสมได้รื้อฟื้นและซ่อมแซมอดีตของตัวเองบนถนนสายนี้...เพื่อให้คนอื่นได้เข้าถึง”
และก่อนที่เรื่องราวความทรงจำของสามัญชนหรือชีวิตประจำวันของผู้คนจะลบเลือนหายไปกับกาลเวลานิทรรศการฯนี้จึงกำลังบอกเราว่าคนทุกรุ่นควรที่จะบันทึกประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของตัวเองไม่ว่ามันจะเล็กน้อยเพียงใดเพราะหากมุ่งแต่เรื่องของเหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์สำคัญ รายละเอียดต่างๆ ที่เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่ามีเสน่ห์ก็จะถูกลบเลือนไป เราต้องคิดว่าแม้ตัวเราจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในเรื่องราวนั้นแต่เราก็มีความสำคัญมากกว่านั้น...

ด้าน โอภาส สุภอมรพันธ์ หนึ่งในทีมงานภัณฑารักษ์วัยเก๋า เปิดเผยถึงการทำงานร่วมจัดนิทรรศการฯครั้งนี้ว่า เป็นการเล่าเรื่องราวจากทีมภัณฑารักษ์ที่มีทั้งหมด 16 คน“นิทรรศการนี้เราเตรียมกันล่วงหน้าปีเศษ การได้มารู้จักน้องๆ ทีมงานได้มาเรียนรู้ใหม่ทำให้เราเติมไฟมีชีวิตชีวาขึ้นมา จากการได้ไปลงพื้นที่ไปเดินถนนราชดำเนินเราพบเสน่ห์อย่างหนึ่งคือทุกครั้งที่เดินเราจะได้เจอร้านใหม่ ทุกครั้งที่เดินไปในซอยตามซอกหลืบ เราจะได้เห็นว่า เอ๊ะมีร้านนี้ด้วยหรือบางทีก็ได้เจอเจ้าของร้านมานั่งพูดคุยเท้าความถึงเรื่องประวัติของร้านหรือวิถีชีวิตชุมชนและด้วยวัยหรือความชอบส่วนบุคคลอาจทำให้มีแนวทางในการใช้ชีวิตแตกต่างกันไปแต่ราชดำเนินจะเป็นจุดผสานที่ทำให้คนทั้งวัยปู่ย่าวัยพ่อแม่และวัยลูกหลาน สามารถมาเดินและใช้เวลาร่วมกันได้”

รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวถึงสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนินที่มีความโดดเด่นและเป็นภาพความทรงจำของใครหลายคนว่า เป็นสถาปัตยกรรม Art decoที่เป็นผลิตผลมาจากยุคสมัยใหม่ในสังคม โดยรูปแบบของ Artdecoจะตัดทอนลวดลายแบบคลาสสิคเดิมทิ้งไป แล้วคำนึงถึงเส้นสายทางเรขาคณิตความเรียบง่ายและภาพรวมเข้ามาแทนที่ รูปทรงของอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นจึงเน้นรูปร่างที่มีความโค้งมน ซึ่งอาคารต่างๆบนถนนราชดำเนินก็แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศต่างๆ เหล่านั้นอยู่ด้วย
“ศิลปะแบบArt deco เข้ามาในสังคมไทยพีคที่สุดคือช่วงคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเราจึงเห็นการออกแบบที่ประยุกต์เข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรด้วย เช่น เส้นสายต่างๆจะนิยมสะท้อนหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร มีเหลี่ยมมุม 6 อัน เสา 6 ต้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่บางส่วนก็ประยุกต์เข้ากับลายไทยโดยลายไทยก็จะถูกปรับให้เป็นเรขาคณิตมากขึ้นดูเรียบง่ายมากขึ้นแล้วถูกนำมาประดับตกแต่งอาคารลายไทยแบบใหม่จึงเพรียวลมเรียบง่ายนอกจากนี้ยังมีการจัดองค์ประกอบใหม่ คือความงามจะไม่ได้มาจากการประดับตกแต่งแต่ยังขึ้นอยู่กับการผสมสานกับแสงเงาที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นเวลาเราดูตึกราชดำเนินในบางมุมเราจะเห็นว่ามีการเล่นดึง

เข้าดึงออกของตัวอาคาร ซึ่งถ้าแสงแดดจัดเราก็จะเห็นเงาที่ตกทอดอันนี้จะเป็นความงามในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นกับลวดลายแต่ขึ้นกับตัวแมทฟอร์มโดยตรงพบกับเรื่องราวความทรงจำของราชดำเนินในมุมมองที่แตกต่างจากผู้คนหลากหลายในรูปแบบนิทรรศการที่ทันสมัยตอบโจทย์ทุกช่วงวัยจากมิวเซียมสยาม ซึ่งเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ -31 ตุลาคม 2563 ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เวลา 10.00 – 18.00น.(ห้องสมุดปิดทุกวันจันทร์) และสามารถติดตามข่าวสารและการลงทะเบียนเข้าชมนิทรรศการได้ที่www.facebook.com/museumsiamfan