In Bangkok

เขตจตุจักรกำชับผู้รับเหมารื้อถอนอาคาร ตามขั้นตอนวิธีการที่ได้รับอนุญาต



กรุงเทพฯ- เขตจตุจักรกำชับผู้รับเหมารื้อถอนอาคารตามขั้นตอนและวิธีการตามที่ได้รับอนุญาต

นายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุผนังอาคารพังล้มกีดขวางถนน ขณะรื้อถอนในซอยลาดพร้าว 8 แยก 1 เขตจตุจักร และมีการตั้งข้อสังเกตถึงการรื้อถอนอาคารไม่ได้ดำเนินการตามหลักวิศวกรรมว่า การรื้อถอนอาคารในซอยลาดพร้าว 8 แยก 1 เขตจตุจักร ได้รับอนุญาตรื้อถอนเมื่อวันที่ 19 พ.ค.64 เป็นอาคาร ค.ส.ล. 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง พื้นที่ 3,040 ตร.ม. เพื่อใช้เป็นพื้นที่ว่าง บริษัทฯ ที่ดำเนินการรื้อถอนได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น ติดตั้งสแลน ป้ายเตือน และกั้นแนวเขตล้อมรั้วสูง 6 เมตร บริเวณโดยรอบอาคารที่รื้อถอนอย่างชัดเจน ซึ่งนายตรวจอาคารได้ตรวจสอบการรื้อถอนอาคารเป็นระยะ ๆ แต่บริษัทฯ ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขแนบท้ายในอนุญาต จึงได้แนะนำให้ขึงผ้าใบ หรือวัสดุเทียบเท่า หรือดีกว่า เพื่อป้องกันวัสดุร่วงหล่นและฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ส่วนการขนถ่ายวัสดุที่รื้อถอนจากที่สูงลงมาต้องกระทำให้เหมาะสมและปลอดภัยจากการตกหล่น ห้ามกองวัสดุที่รื้อถอนไว้บนพื้น หรือส่วนของอาคารที่สูงกว่าพื้นดิน ห้ามนำเศษวัสดุ หรือมูลฝอยที่เกิดจากการรื้อถอนกองไว้ หรือทิ้งลงในที่สาธารณะ และก่อนการรื้อถอนอาคารส่วนใด ต้องตรวจสอบและหาวิธีการป้องกันสิ่งบริการสาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินในขณะที่รื้อถอนอาคารส่วนนั้น รวมทั้งกำชับให้ทำงานในระหว่างเวลา 08.00 - 18.00 น. เท่านั้น ไม่จับกลุ่มพูดคุย หรือส่งเสียงดังระหว่างการทำงาน สเปรย์น้ำในระหว่างรื้อถอนอาคาร ล้างล้อรถขนวัสดุเพื่อป้องกันเศษวัสดุ ดิน ติดล้อรถออกสู่ถนนภายนอก รวมทั้งขอให้เว้นระยะห่าง และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

การรื้อถอนอาคารดังกล่าวมีความคืบหน้าร้อยละ 90 แต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะรื้อถอนได้เกิดเหตุผนังอาคารพังล้มกีดขวางถนน ส่งผลให้เสาไฟฟ้าและเสาสื่อสารหักล้มขวางถนน 6 ต้น ผนังรั้วกั้นแนวรื้อถอนล้มลงมาปิดขวางถนน มีเศษปูนกระจาย สำนักงานเขตฯ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุทันที โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ เช่น สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ร่วมจัดการจราจรให้กับประชาชนในซอย การไฟฟ้านครหลวง เขตบางเขน ปลดสายไฟฟ้า เพื่อระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าและหน่วยงานสายสื่อสารร่วมตัดสายสื่อสาร จากการตรวจสอบพบว่า งานรื้อถอนอาคารลงแนวราบเหลืออีกร้อยละ 10 จะแล้วเสร็จ สำหรับสาเหตุคาดว่า อาจเกิดจากความไม่ระมัดระวังของเจ้าหน้าที่ในการใช้เครื่องจักรขณะปฏิบัติงาน แม้ไม่เกิดความเสียหายต่อชีวิตในระหว่างการรื้อถอน แต่ส่งผลกระทบ ในบริเวณโดยรอบ จึงได้กำชับตัวแทนบริษัทฯ ให้รื้อถอนอาคารตามขั้นตอน วิธีการ และมีความปลอดภัยตามที่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งกำชับนายตรวจอาคารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสถานที่ที่ได้รับอนุญาต แนะนำให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต มิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก