In Bangkok
เทศกิจ-อนามัยกทม.เข้มงวดในมาตรการ ป้องกันโควิดที่กำหนด
กรุงเทพฯ-2สำนักกรุงเทพมหานครเข้มงวดกวดขันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ทางราชการกำหนด
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวกรณีปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) สั่งการไปยังกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดรับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) เพื่อปรับปรุงการบังคับใช้บางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เข้มข้นขึ้น โดยร่วมกับ 50 สำนักงานเขตตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานก่อสร้าง สถานประกอบการที่ปิดและผ่อนคลายตามเงื่อนไขที่กำหนด กิจกรรมที่ต้องควบคุมและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงสถานที่ที่มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมมากกว่า 25 คน เว้นแต่จะได้รับการยกเว้น หรือการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแหล่งอบายมุขในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สำนักงานเขตยังร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลในท้องที่ เจ้าหน้าที่ทหาร และทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันตรวจกิจการ/กิจกรรมอย่างเข้มงวดและจริงจังตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. - 30 ส.ค.64 โดยตรวจสถานประกอบการและร้านอาหารที่ได้รับการผ่อนคลาย ไปแล้วทั้งหมด 31,796 แห่ง และตรวจสถานประกอบการที่มีคำสั่งให้ปิดไปแล้ว 19,090 แห่ง ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ เข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด พร้อมทั้งแนะนำมาตรการป้องกันโรคให้ผู้ประกอบการและประชาชนถือปฏิบัติ เช่น การปรับตัวในการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตลอดจนเคร่งครัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (D-M-H-T-T)
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัยได้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ชุดตรวจร่วม พลเรือน ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่เทศกิจดำเนินการตรวจติดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) อาทิ การจัดตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิว ชุดสายตรวจ สนับสนุนการจัดตั้งจุดตรวจร่วม ชุดสายตรวจร่วมโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตลอดจนรวบรวมข้อมูลการจัดตั้งหน่วยบริการประชาชน รวมทั้งการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และตรวจสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรมตามข้อกำหนดให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศบค. กำหนดอย่างเคร่งครัด อีกทั้งอำนวยความสะดวกช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงบริการของรัฐ