In Bangkok

สำนักการจราจรฯประสานBTSCใช้ตั๋วรวม เตรียมใช้กับระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว



กรุงเทพฯ-สำนักการจราจรและขนส่งกทม.ประสาน BTSC เตรียมพร้อมใช้ระบบตั๋วร่วมรถไฟฟ้าสายสีเขียว อำนวยความสะดวกเชื่อมต่อการเดินทาง

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันระบบตั๋วร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบสามารถจ่ายเงินค่าโดยสารโดยใช้ตั๋วใบเดียวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการเชื่อมต่อระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Face Collection) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สามารถใช้บัตรโดยสารเข้าระบบ (Interoperable Ticketing System) เพื่อพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทำให้บัตรโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus และบัตร Rabbit สามารถใช้เดินทางข้ามระบบกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (สายสีเขียว) และส่วนต่อขยาย

ที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว แต่ปัจจุบันมีความล่าช้าจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ ประกอบกับการพัฒนาระบบฯ มีการลงทุนค่อนข้างสูง โดย รฟม.ในฐานะผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTO) ระยะเริ่มต้น ได้พัฒนาระบบตั๋วร่วมรูปแบบ Account Based Ticketing (ABT) ใช้บัตร EMV (Europa MasterCard and Visa) ซึ่งเป็นบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส (Contactless) มาใช้ชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะ โดยร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างนำบัตร EMV Contracless มาใช้กับระบบรถไฟฟ้าทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน ซึ่งได้ติดตั้งและเริ่มทดสอบระบบเมื่อวันที่ 1 ก.ค.64 นำร่องที่สถานีหัวลำโพงและสถานีสนามไชย กำหนดเปิดใช้งานสำหรับกลุ่มทดสอบภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 64 และกำหนดเปิดให้บริการภายในไตรมาสแรกของปี 65 โดยปัจจุบันได้นำบัตร EMV Contractless มาใช้กับระบบรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า และระบบทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 5 เส้นทาง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง การดำเนินการระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม ซึ่งในส่วนของ กทม.จะประสาน BTSC เพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินการตามนโยบายและแนวทางดังกล่าว ให้สามารถพัฒนาระบบตั๋วร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อการเดินทางและลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป