Biz news

'พัฒนาชุมชน'อบรมพัฒนาสินค้าโอทอป เสริมศักยภาพการตลาดให้244ราย



กรุงเทพฯ-กรมการพัฒนาชุมชน จัดการอบรมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ได้เสริมทักษะทางด้านการตลาด สามารถนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมสนับสนุนสินค้าโอทอปให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยมีผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการอบรม และให้เกียรติมาเป็นวิทยากรแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 244 ราย

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าโอทอป ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ลงทะเบียนผ่านระบบทั้งสิ้น 19,248 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสินค้าโอทอปของกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ประสบปัญหาด้านคุณภาพ และมาตรฐาน รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้สินค้าขาดศักยภาพในการเข้าไปแข่งขันในตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศ มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กรมฯ มีความกังวลใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ หากแต่การอบรมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จึงมีการตัดสินใจปรับรูปแบบการอบรมมาเป็นระบบออนไลน์แทน เพื่อให้ผู้ประกอบการยังสามารถเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการสินค้าโอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เนื่องจากประชาชนกำลังมีความตื่นตัวหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ด้วยการเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายจากสมุนไพร จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นออกสู่ตลาด ซึ่งมีข้อได้เปรียบในเรื่องเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่แล้ว แค่เสริมทักษะด้านการตลาดเข้าไป ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ระบบตลาดได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตจากฐานรากได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยหลักสูตรของการอบรมครั้งนี้ มีเนื้อหาที่ครอบคลุมและครบทุกมิติ ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าได้ตลอดทั้งกระบวนการ แบ่งออกเป็น ด้านการตลาด เน้นการสร้างแบรนด์ วิเคราะห์ วางกลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ ด้านดิจิทัล มีเป้าหมายในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ ด้านการออกแบบ เพื่อสร้างภาพจำให้กับสินค้า และ ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพสินค้าโอทอป ให้ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โครงการนี้ นับเป็นการจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก แต่ก็ถือว่าได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

“กรมการพัฒนาชุมชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพในเชิงพาณิชย์ให้กับผลิตภัณฑ์โอทอปกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ให้สามารถขยายช่องทางการขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นให้เติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งหลังจากนี้ ทางโครงการฯ จะมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยการลงพื้นที่เพื่อช่วยตรวจสอบการผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามขั้นตอน และกระบวนการที่ได้มาตรฐาน” นายสุรศักดิ์ กล่าว